น้องตังเมบันเทิง

เจ้าฟ้านักถ่ายภาพ, หลุมประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ และรูปร่างของอารมณ์

น้องตังเม ผู้สื่อข่าวศิลปะของนิตยสารโกง เดินทางมาถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่เต็มไปด้วยประชาชนคนหนุ่มสาว ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่นิยมชื่นชมงานศิลปะ แม้จะยังประสบปัญหาเรื่องงบประมาณที่เคยได้รับจากกรุงเทพมหานคร ด้วยติดขัดเรื่องข้อสัญญาและระเบียบใหม่ แต่ยังมีนิทรรศการศิลปะที่หลากหลายให้ประชาชนได้มาเที่ยวชมเหมือนเดิม

เจ้าฟ้า…นักถ่ายภาพ

สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป มีโอกาสร่วมตามรอยเสด็จฯ และชื่นชมอารมณ์ขันและพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ได้ทรงบันทึกระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2561 เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ โดยจะจัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2562

ด้วยเป็นภาพถ่ายที่ทรงบันทึกภาพอย่างลำลองเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อทรงเสด็จพระราชดำเนิน ณ สถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทรงพระราชนิพนธ์คำบรรยายสั้นที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขัน เช่นเมื่อทรงถ่ายภาพ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ทรงพระราชทานคำบรรยายว่าเป็น “พระเอกใหญ่ของเรา” เป็นต้น.

ประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ที่หลอกหลอน

มาร์ก จัสติเนียนี สร้างสภาวะแห่งความน่าหวาดหวั่นจากหลุมลึกอันไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเกิดจากการใช้เทคนิคกระจกสะท้อนภาพภายใต้ความมืดสลัว ผู้เข้าชมนิทรรศการถูกบังคับให้ยืนเหนือหลุมลึก และถูกแวดล้อมด้วยเงาสะท้อนของประวัติศาสตร์ประเทศฟิลิปปินส์ ทั้งการปฏิวัติ การพลีชีพ ความยากจนของประชาชน รวมถึงเล่ห์กระเท่ของนักการเมือง กิจกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นภายในห้องขนาดเล็กที่ดูคล้ายบ้านสงเคราะห์ที่มีอยู่ทั่วไปในกรุงมะนิลา

จัสติเนียนี เป็นศิลปินทัศนศิลป์ชาวฟิลิปปินส์ เกิดในปี 2509 ผ่านการจัดนิทรรศการศิลปะมาแล้วอย่างมากมาย ทั้งในแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์หลายต่อหลายแห่ง ในหลายประเทศ งานบางชิ้นของเขาสามารถปิดการประมูลในราคาสูงกว่า 90,000 ดอลลาร์สหรัฐ

The Settlement เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่จัดแสดงหลายจุดทั่วกรุงเทพมหานคร โดยนิทรรศการทั้งหมดจะจัดถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 นี้.

รูปร่างของความโศกเศร้า

การแสดงสดอันมีที่มาจากการศึกษาการแสดงโบราณซึ่งเป็นที่นิยมในราชสำนักเกาหลีและญี่ปุ่น เพื่อตอบคำถามว่า “ทำอย่างไรจะอธิบายอารมณ์ออกมาเป็นรูปร่างได้” การแสดงโบราณดังกล่าวมีความเป็นนามธรรมสูง และมีความเรียบง่าย แม้กำลังเล่าเรื่องราวที่มีรายละเอียดมาก

ระหว่างที่ศิลปินภายใต้หน้ากากและชุดยาวสีขาว เคลื่อนไหวไปมาด้วยท่าเต้นที่แสดงออกถึงรูปร่างของอารมณ์ ซึ่งเป็นการนำตัวอักษรฮันกึลในภาษาเกาหลีมา สร้างใหม่ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ไม่สามารถแสดงออกถึงรูปร่างของอารมณ์ได้ ความโศกเศร้าของตัวศิลปินจะถูกแสดงผ่านสัญลักษณ์คือการถูกทาด้วยสีแดงตลอดการแสดงนั้น.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *