ระวัง อีเมลธนาคารปลอม
มิจฉาชีพมักพัฒนารูปแบบการคดโกง หลอกลวงต้มตุ๋น เป็นเรื่องของประชาชนผู้มีความสุจริตจะต้องรู้เท่าทันภัยการโกงรูปแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงพลิกแพลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องของการเงินการธนาคาร มีเทคนิควิธีการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดนิ่ง ยิ่งมาถึงสมัยเอ็ม-แบ้งค์กิ้ง ยิ่งหลอกลวงกันง่าย เพราะการเข้าถึงบริการต่างๆ ของธนาคารอยู่ในมือของผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อ
อย่างล่าสุดนี้, มีประกาศตามเพจแฉการทุจริต เรื่อง “ระวังมิจฉาชีพส่งอีเมลธนาคารปลอม” เอ๊ะ ! ส่งอีเมลปลอมในนามของธนาคารพาณิชย์ ก็ทำกันมานานแล้วไม่ใช่หรือ ไหนว่าเป็นเทคนิคใหม่ ก็เปลี่ยนแปลงอะไรนิดหน่อย ก็เรียกว่าเป็นเทคนิคใหม่ ตามสไตล์มิจฉาชีพ
“เรียนลูกค้า
ชมเชยของฤดูกาล เมื่อไม่นานมานี้จากข้อความฉ้อโกงที่กำหนดเป้าหมายลูกค้าของเรา ได้ตัดสินใจที่จะอัพเกรดความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูลออนไลน์ของเธอ ในการทำเช่นนี้เราจะต้องมีการตรวจสอบที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าของเรา เราไม่สามารถติดต่อคุณทางโทรศัพท์จึงส่งอีเมลนี้ถึงคุณเป็นทางเลือก
โปรดยืนยันตัวตนของคุณผ่าน Url ด้านล่าง
(Url ปลอมที่ถูกสร้างให้ดูคล้ายกับ Url ในระบบของธนาคาร)
หากคุณไม่ทำเช่นนี้ คุณจะถูกจำกัดไม่ให้เข้าถึงบัญชี Netbank ของคุณ เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งจะเรียกร้องสถานะกายภาพของคุณที่สาขา ktb ของคุณ ก่อนที่คุณจะเข้าถึงบัญชีของคุณได้
ขออภัยในความไม่สะดวก
ความนับถือ
บมจ. ธนาคารกรุงไทย
ไม่ใช่แค่ธนาคารกรุงไทยเท่านั้น แต่ทั้งธนาคารกรุงศรี อยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกร ธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ โดนกันครบหมดทั่วทุกธนาคาร
หากสังเกตจะพบว่าเนื้อหาในอีเมลมีรูปแบบการใช้ภาษาไทยที่ผิด และเป็นการใช้สำนวนที่แปลก เช่น บริเวณข้อความที่ขีดเส้นใต้ไว้ จึงสันนิษฐานได้ว่ามิจฉาชีพกลุ่มนี้น่าจะเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งถ้าหากไม่ใช่ฝรั่งตาน้ำข้าว ก็คงจะเป็นคนจีนหรือคนเอเชีย
ส่วนจะเป็นชนชาติใดก็สุดแสนจะคาดเดาได้
หากเผลอคลิกไป ข้อมูลการเข้าระบบของท่านอาจจะตกอยู่ในมือของมิจฉาชีพ
ประชาชนท่านใดที่ได้รับอีเมลอวดอ้างว่าส่งมาจากธนาคารพาณิชย์ที่ท่านใช้บริการ โปรดอย่าหลงเชื่อ อย่ากดลิงค์ที่ถูกส่งมาพร้อมกับอีเมล อย่าทำตามที่อีเมลดังกล่าวแนะนำเป็นอันขาด ติดต่อธนาคารก่อน เพื่อความปลอดภัย
โดยปกติแล้ว ธนาคารพาณิชย์จะไม่ส่งอีเมลหาท่านในหัวเรื่องแบบนี้ หากจะมีก็เป็นการแจ้งเข้าสู่ระบบ แจ้งยอดเงินเปลี่ยนแปลงทางข้อความ ทางไลน์ หรือช่องทางใดๆ
ช่วยบอกต่อกัน ช่วยกันแชร์ เพื่อเป็นการเน้นย้ำ เพราะบางครั้งเผลอๆ ก็ลืม นึกไม่ทันว่าอาจเป็นอีเมลจากกลุ่มมิจฉาชีพนั่นเอง