กองบรรณาธิการสกู้ป

“ตักกลับบ้าน” : ทุจริตอาหารกลางวันเด็ก

“ปลูกปัญญา – สร้างอาหารกลางวันยั่งยืน” เป็นประหนึ่งนโยบายที่สวยหรูของ กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา หน่วยงานภายใต้สังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ตอนนี้งบประมาณของกองทุนอาหารกลางวันฯ ได้กลายเป็นชิ้นขนมหวานของผู้บริหารโรงเรียนนับร้อยนับพันแห่งในประเทศไทย ดังที่มีข่าวปรากฏตามหน้าสื่อสารมวลชนถึงการเบียดบังงบประมาณอาหารกลางวันของเด็ก ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องคอรัปชั่นยอดนิยม จะด้วยเด็กนักเรียนเป็นผู้เยาว์ไม่มีปากเสียงหรืออย่างไร แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องทุจริตที่สำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโต และภาวะทุพโภชนาการของเด็ก

ภาวะทุพโภชนาการ หรือ Malnutrition เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารในปริมาณที่ไม่ เหมาะสม ทั้งมากไปหรือน้อยไป หากได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่เพียงพอ จะส่งผลให้มีน้ำหนักตัวน้อย รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา หากได้รับสารอาหารมากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะอ้วน ภาวะทุพโภชนาการนี้อาจส่งผลต่อสภาพร่างกายและสภาพจิตใจ รวมทั้งทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย

โครงการจัดการอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการนี้ ได้ทดลองเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 พบว่าบางโรงเรียนขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ไม่สามารถจัดหาอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนได้อย่างทั่วถึง นำมาซึ่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน พ.ศ. 2535 มีสาระสำคัญ คือ พรบ. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา โดยมีวงเงิน 6,000 ล้านบาท เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่าย สำหรับให้การช่วยเหลือโรงเรียนที่ยากไร้และขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงสนับสนุนภาวะโภชนาการของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา

ในยุคสมัยของ นายชวน หลีกภัย คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ให้ถือว่าการส่งเสริมนักเรียนทุกคนให้ได้รับประทานอาหารกลางวันอย่างเพียงพอเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล เห็นชอบจัดการให้เกิดความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้ยึดถือเป็นหน้าที่สำคัญในการดำเนินงาน

เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2544 ปรากฏว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องถ่ายโอนงบประมาณค่าอาหารกลางวันไปให้แก่กระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดตั้งและจัดสรรงบประมาณเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา

จากข้อมูล ณ วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น 7,852 แห่ง เฉพาะเทศบาลกับองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีบทบาทในเรื่องการจัดสรรงบประมาณโครงการอาหารกลางวันฯ เพียงแค่นี้ก็ทำให้มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่า 7,500 หน่วยงาน

แบ่งตามประเภทได้ คือ
เทศบาลนคร 30 แห่ง
เทศบาลเมือง 179 แห่ง
เทศบาลตำบล 2,233 แห่ง
องค์การบริหารส่วนตำบล 5,332 แห่ง

หากตั้งข้อสังเกตจะเห็นได้โดยง่ายว่างบประมาณอาหารกลางวันฯ ของเด็กนักเรียน ซึ่งควรจะเป็นหน้าที่การจัดสรรโดยกระทรวงศึกษาธิการ กลับถูกถ่ายโอนไปอยู่ในมือของกระทรวงมหาดไทย และเมื่อกระจายงบประมาณไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้มีผู้เข้ามาเกี่ยวของกับเงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลคงไม่สามารถตรวจสอบดูแลได้อย่างทั่วถึง แม้ว่าถึงท้ายที่สุดแล้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนจะตกเป็นผู้ต้องหาในเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่นแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม

การดำเนินงานโครงการอาหารกลางวันฯ ปัจจุบันมี งบประมาณสนับสนุน 20 บาทต่อนักเรียน 1 คน โดยสนับสนุนเป็นจำนวนวัน 200 วันต่อ ปี งบประมาณทั้งหมดจัดสรรผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียนที่ต้องการงบประมาณสนับสนุนจะต้องเป็นสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถเขียนคำร้องยื่นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะได้รับใบเสร็จในนามเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นๆ

ดังเห็นว่าเป็นโครงการที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน เรื่องราวการทุจริตคอรัปชั่นเงินอาหารกลางวันของเด็กในหลายกรณีที่เกิดขึ้น และตกเป็นข่าวในหน้าสื่อสารมวลชน จึงปเ็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่านักการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ หรือนักบริหารสถานศึกษาจะสามารถกระทำเรื่องเช่นนี้ได้

ผู้อำนวยการขนมจีน : สุราษฏร์ธานี
จากเรื่องราวที่ถูกเปิดโปงผ่านสื่อใหม่จนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ภาพของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในประเทศไทยที่ต้องบริโภคอาหารกลางวันเป็นเส้นขนมจีนแถมซ้ำยังต้องเหยาะแกล้มด้วยน้ำปลา ที่เป็นอาหารกลางวันพื้นฐานประจำโรงเรียนบ้านท่าใหม่ หมู่ 17 ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฏร์ธานี

ด้วยการทำงานอย่างเข้มข้นของ ชมรมสตรอง จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นครั้งแรกที่ได้สร้างความสนใจจากประชาชนต่อกรณีการทุจริตโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งต่อมาทั้งรัฐบาล คสช. และหน่วยงานปราบปรามการทุจริต รวมทั้งภาคประชาชน ได้ตรวจสอบพบการทุจริตโครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็กอีกมากมายหลายโรงเรียน ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย

ครูกินด้วย : นครราชสีมา
เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภาค 3 จังหวัดนครราชสีมา ทำการสุ่มตรวจคุณภาพอาหารกลางวันตามโรงเรียนต่างๆ พบว่าอย่างน้อย มีโรงเรียนถึง 4 แห่งที่จัดซื้อวัตถุดิบไม่ครบตามบัญชี โดยซื้อวัตถุดิบเพียงครึ่งหนึ่ง อีกทั้งเงินส่วนต่างที่เหลือถูกใช้โดยไม่ต้องตรงวัตถุประสงค์ แทนที่จะคืนให้กับองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น แม้เงินงบประมาณจะมีไว้สำหรับจัดหาอาหารให้แก่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา แต่โรงเรียนบางแห่งกลับใช้จ่ายเงินเพื่อเลี้ยงอาหารเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา และยังเลี้ยงอาหารครูผู้สอนอีกด้วย เมื่องบประมาณถูกใช้กับคนจำนวนมากเช่นนี้ ทำให้ปริมาณอาหารลดลงเหลือเพียงเมนูเดียวต่อวัน

จอมโจรขนมหวาน : สุพรรณบุรี
ไม่เพียงแต่โรงเรียนรัฐเท่านั้น แต่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โรงเรียนเอกชนการกุศล ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวจากรัฐบาล ได้จัดซื้อขนมเป็นของว่างสำหรับเด็กนักเรียนจำนวน 2,150 คนต่อวัน จัดซื้อขนมหวานในราคาชิ้นละ 3-4 บาท แต่ในตอนเบิกจ่ายเงิน ทางโรงเรียนขอให้ทางร้านช่วยเซ็นบิลที่ระบุค่าขนมชิ้นละ 5 บาท แถมซ้ำเจ้าของร้านยังเป็นครูคนหนึ่งที่สอนอยู่ในสถานศึกษาแห่งนั้นด้วย

ผู้อำนวยการที่สูญหาย : สุรินทร์
ผู้อำนวยการโรงเรียนในจังหวัดสุรินทร์รายนี้ ถูกคุณครูภายในโรงเรียนและผู้ปกครองในชุมชนร่วมกันตรวจสอบ จนหนีหน้าหายไปจากโรงเรียน เริ่มต้นจากการมาทำงานบ้าง ไม่มาทำงานบ้าง คงมีแต่เจ้าหน้าที่การเงินที่แต่งตั้งไว้เอง กับเอกสารการเงินที่ระบุการเบิกจ่ายอย่างถูกต้องทุกประการ รายนี้ไม่ใช่เพียงทุจริตเงินโครงการอาหารกลางวันฯ แต่ยังรวมไปถึงเงินช่วยเหลือค่าเครื่องแบบนักเรียน ที่ทาง ผ.อ. ได่นัดให้คณะผู้ปกครองมารับเงินจากตนวันแล้ววันเล่า แล้วก็ผิดนัด ไม่ยอมมาทำงาน เหตุการณ์เลวร้ายถึงที่สุด ถึงขั้นนักเรียนทั้งโรงเรียนต้องอดข้าวกลางวัน โดยผู้อำนวยการโรงเรียนยังคงล่องหน ครูในโรงเรียนเอฃต้องเป็นฝ่ายติดต่อเอกชนขอความช่วยเหลือเป็นเงินวันละ 3,600 บาท เพื่อจัดการให้นักเรียนมีอาหารกลางวันกิน

อาหารปลอดโปรตีน : นครศรีธรรมราช
ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงค์ที่กำลังตกเป็นข่าวดัง ด้วยผลจากการตรวจสอบ หลังการปรากฏขึ้นของคลิปวิดีโอ พบว่าอาหารไม่เพียงพอสำหรับนักเรียน อีกทั้งมีปัญหาในเรื่องอาหารไม่ได้คุณภาพ อาหารมีโปรตีนน้อยกว่าที่ควร นักเรียนในห้องที่รับอาหารเป็น ลำดับท้ายๆ ไม่มีเนื้อสัตว์เหลือถึง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารบางคนทราบเป็นอย่างดี แต่ไม่เคยมีการดำเนินการ จนกระทั่งกลายเป็นคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ไปทั่วทุกสำนักข่าว

ตามข้อเท็จจริง สำหรับเด็กในวัยเรียน ในช่วงอายุ 6-12 ปี เด็กจะต้องได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ อีกทั้งเมนูอาหารควรมีความหลากหลาย ไม่ควรมีเพียงแป้งและน้ำตาล ทางโรงเรียนอาจจัดอาหารว่างที่มีประโยชน์ให้แก่เด็กในช่วงสายและช่วงบ่ายร่วมด้วย

โดย 5 กลุ่มอาหารที่เด็กควรได้รับ ได้แก่ ข้าว-แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และนม เด็กจะต้องได้รับคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ไอโอดีน เหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และโฟเลท เป็นต้น

ซึ่งเกือบทั้งหมดนี้ ไม่มีอยู่ในเมนูขนมจีนเหยาะน้ำปลา

หากเด็กเจริบเติบโตได้ดี จะส่งผลต่อเชาว์ปัญญาของเด็ก ซึ่งถือเป็นประโยชน์ของเด็กเอง และหากยังมองว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในหมู่นักการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารการศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูบาอาจารย์ เจ้าหน้าที่สถานศึกษา ภารโรง หรือแม้แต่คู่ค้ากับสถานศึกษา ผู้จัดหาหรือทำอาหาร ควรจะต้องซื่อสัตย์สุจริต และประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่ควรเบียดเบียนเงินงบประมาณเสียเอง โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรืออนาคตของเด็ก

ถ้าเรายังคงสอนเด็กของเราว่า “โตไป-ไม่โกง” นั่นย่อมหมายความกลับมาถึงตัวเราเอง ด้วยเด็กเป็นผลผลิตของสังคม เมื่พวกเขารู้เห็นอย่างไร ก็จะมีความประพฤติไปตามนั้น และหากเด็กโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดคุณภาพ ก็ย่อมจะเป็นความผิดของผู้ใหญ่ในยุคนี้เอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *