กาสร วงศ์ชมพูคอลัมนิสต์

ฤดูที่แตกต่าง : กาสร วงศ์ชมพู

หลังเลือกตั้งย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ โดยเฉพาะในระบบราชการ ข้าราชการทุกคนต่างติดตามข่าวสาร เงี่ยหูฟังว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคนใหม่ ข่าวลือสะพัดไปทั่วกระทรวง ท่ามกลางการคาดเดาต่างๆ นานา

แน่นอนว่า ท่านรัฐมนตรีใหม่ย่อมมาพร้อมกับนโยบายใหม่ๆ และแน่นอน ทีมงานใหม่ ส่งผลให้อาจมีท่านปลัดคนใหม่ ท่านอธิบดีคนใหม่

เมื่อนั้น นโยบายย่อมเปลี่ยนแปลง

ในฐานะข้าราชการก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายของผู้บริหาร (คนใหม่) มีบางเรื่องที่ไม่อาจสานต่อ เพราะขัดกับนโยบายใหม่ มีบางเรื่องอาจไม่ได้รับงบประมาณในการทำงาน เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป ทุกคนหันไปทำเรื่องที่ได้รับคำสั่ง หลายเรื่องที่เป็นโครงการต่อเนื่องต้องหยุดชะงักไป แม้ว่าจะเป็นประโยชน์ แต่บางครั้งอาจหายไปดื้อๆ ทำเอาชาวบ้านและผู้เกี่ยวข้องพิศวงงงงวย !

นาทีนี้ใครๆ ต่างพากันทำงานสนองนโยบาย สร้างผลงาน หวังเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง บางงานฉาบฉวยแต่ได้หน้า ได้ผลงาน ดูดี จะพากันทำหลังขดหลังแข็ง (เช่น งานประเภทอีเว้นท์) ตรงกันข้ามกับงานที่ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม มาป่าวประกาศโจ่งแจ้งหรือต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานเป็นปีๆ ย่อมไม่ได้รับการเหลียวแล ถึงอย่างนั้น บางครั้ง ผลของงานไม่อาจประเมินความก้าวหน้าเทียบเท่ากับว่า “คุณ…เป็นคนของใคร !”

บุคคลที่เป็นผู้ใกล้ชิดผู้บริหารโดยเฉพาะบรรดาหน้าห้องและเลขานุการทั้งหลาย ต่างได้ดิบได้ดี เพราะมีผู้บริหารคอยส่งเสริมกันถ้วนทั่ว โดยเฉพาะก่อนที่ท่านจะเกษียณอายุราชการ ท่านผู้บริหารจะส่งบรรดาคนใกล้ชิดให้ถึงฝั่งที่มั่นคง ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาและโอกาสจะอำนวย บางคนเป็นผู้อำนวยการ บางคนเป็นรองอธิบดี เป็นผู้ตรวจราชการก็มี บุคคลเหล่านี้ เป็นที่รู้กันว่า เสียสละเวลาอันมีค่าคอยบริการผู้บริหาร มีผลงานเป็นที่น่าพออกพอใจ จนได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง จนบางครั้ง ข้าราชการที่มิได้อยู่ ณ จุดนั้น พากันน้อยอกน้อยใจ เพราะไม่มีใครเห็นค่า ทำได้เพียงทำงานต่อไปด้วยความท้อแท้

ระบบอุปถัมภ์ยังคงทำหน้าที่ของมันเสมอ แม้ว่าจะปฏิรูประบบราชการรอบแล้วรอบเล่า สายสัมพันธ์เหล่านี้ย่อมไม่อาจเลือนหาย ในที่นี้ การทำงานในระบบราชการจึงบั่นทอนกำลังใจคนทำงานที่ไม่มีพวกพ้อง ไม่ชอบการนำเสนอ (หน้า) และบางครั้งอาจไปขัดผลประโยชน์ (ของคนอื่น) โดยไม่รู้ตัว สุดท้าย เมื่อไม่มีความก้าวหน้า พวกเขาก็จะออกจากระบบราชการไปในรูปแบบต่างๆ เป็นต้นว่า หากพวกเขาอายุยังน้อย อาจลาออกไปทำงานบริษัทเอกชนที่มีค่าตอบแทนสูง แถมมีโบนัส และสวัสดิการจูงใจไม่แพ้กัน หรือหากทำงานมานานเกิน 25 ปี ก็ลาออกก่อนกำหนด (เออร์รี่ รีไทร์) โดยมีบำนาญพอเป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน ควบคู่ไปกับการทำงานอื่นไปด้วย เป็นต้น

น่าเสียดายว่า ในจำนวนนี้มีนักเรียนทุนที่หลวงส่งเงินหลักล้านให้เรียนจนจบต่างประเทศทั้งปริญญาตรี โท และเอก พวกเขาเหล่านั้นจะอยู่ชดใช้ทุนจนหมดแล้วรีบลาออกไปทำงานเอกชนจำนวนมากรวมอยู่ด้วย เช่นนี้แล้ว จะหวังให้ข้าราชการทำงานคล่องตัว มีค่าตอบแทนสูงอย่างเอกชนย่อมเป็นไปได้ยาก คนคุณภาพอยู่ไม่ได้ ที่เหลือกลายเป็นคนสองประเภทคือ หนึ่ง อดทนและไม่ยี่หระต่อสิ่งใดแล้ว ยอมตามน้ำตามคำสั่ง ปรับตัวขยับขยาย กลายเป็นพวกเดียวกัน สอง คนที่ไม่มีที่ไป ทำงานซังกะตาย หายใจทิ้งไปวันๆ รอเกษียณอายุราชการเพื่อให้ได้บำนาญ

นอกเหนือจากเส้นสายแล้ว การซื้อขายตำแหน่งก็เป็นอีกเรื่องที่มาพร้อมๆ กัน เก้าอี้ตัวนึงราคาเรือนแสนเรือนล้าน หากว่าจะเป็นเก้าอี้ของผู้บริหารระดับสูง ดังข่าวที่ได้ยินกันมาหลายต่อหลายครั้ง และหากตำแหน่งผู้บริหารได้มาจากการซื้อด้วยเงินจำนวนมหาศาลแล้ว

ลองตรองดูเถิดว่า บุคคลนั้นจะทำงานในลักษณะใด ถ้าไม่ใช่การกอบโกยผลประโยชน์เพื่อทดแทนเงินที่เสียไป…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *