คอลัมนิสต์ไมเคิ้ล เลียไฮ

ผีในโลกออนไลน์ : ไมเคิ้ล เลียไฮ

ด้วยความเป็นคนทำมาหากินสุจริตที่อาศัยช่องทางออนไลน์เป็นสื่อ ยิ่งกับเรื่องราวในแวดวงการทำหนังสือหรือการทำสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ทำให้ต้องพบกับบุคคลประเภทหนึ่ง ที่ดูเหมือนว่าจะวางตัวใหญ่โตเกินความเป็นจริง จะเป็นด้วยจมปลักอยู่ในโลกออนไลน์นานเกินไป หรือออกจากบ้านไปไหนไม่ได้ เรียกได้ว่านั่งแช่ปลักโคลนออนไลน์ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ใช้ชีวิตอยู่แต่ในโลกออนไลน์เป็นหลัก กระทั่งหลงลืมโลกแห่งความเป็นจริง คิดว่าโลกออนไลน์นั้นเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่จริง เมื่อลุกจากเก้าอี้ ปิดคอมพิวเตอร์ เดินออกจากบ้าน ก็เป็นได้แค่ใครอีกคนหนึ่ง

ที่ไม่มีความสลักสำคัญอะไรเลย…

พฤติกรรมในแบบมิจฉาชีพของคนกลุ่มนี้ อาจจะเป็นไปโดยไม่รู้ตัว หรือเป็นไปโดยความเคยชิน คนที่มักคิดว่าตนเองเป็นผู้ขบถต่อสังคม เป็นคนนอก เป็นคนชายขอบ เป็นเน็ตติเซนส์ใต้ดินที่จะไม่มีวันเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตน อาจคิดว่าตนเองมีความสามารถสูงส่ง หรือมีความคิดที่สุดโต่ง ตั้งตนเป็นศาสดาคอยชี้ถูกชี้ผิด หรือใช้อินเตอร์เน็ตผลักดันแนวคิดที่สุดแสนจะซื่อบื้อ ซึ่งคิดว่าสุดแสนจะชาญฉลาดที่สุดแล้ว ที่คิดอะไรโง่ๆ แบบนั้นได้

บุคคลกลุ่มนี้ บางครั้งถูกเรียกว่า “ผี” หมายถึงกลุ่มคนที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใดๆ ในโลกออนไลน์ คนที่ไม่มีประวัติจะสืบสาวราวเรื่อง ไม่เคยมีการเชื่อมโยงหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้งานจริง ไม่มีบัญชีอีเมลที่ประกาศแก่สาธารณะ บางส่วนถึงขั้นใช้ภาพถ่ายและข้อมูลของคนตายมาสวมรอย เพื่อแสดงตัวตนบนโลกออนไลน์ และคิดว่าการทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดูดีและปลอดภัย แต่ทั้งหมดนี้คือลักษณะพฤติกรรมแบบมิจฉาชีพ

ไม่ใช่เรื่อง “สิทธิส่วนบุคคล”…

อันที่จริง ถ้าผีจะอยู่ส่วนผี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับคน ผีก็จะหมกมุ่นอยู่เฉพาะแต่ในกลุ่มผี ที่อาจจะฉลาดบ้างโง่บ้าง ทำอะไรห่ามๆ เกินเลยจากกฎเกณฑ์ไปบ้าง โดยมากแล้ว คนก็จะไม่เข้าไปยุ่งกับผี เพราะถือว่าเป็นคนละโลกกัน

แต่ถ้าผีไม่อยู่ส่วนผี เที่ยวออกหลอกหลอนผู้คนนอกโลกของผี เที่ยวจองกรรมจองเวรใครไปทั่ว ฉลาดรู้ดีเรื่องคนนั้นคนนี้ ก็อาจถึงเวลาที่ผีจะต้องถูกเปิดเผยตัวตน เพื่อที่ทุกคนในโลกออนไลน์ จะได้รู้จักว่าผีนั้นคือใคร

ธรรมชาติของมิจฉาชีพจะไม่ยอมเปิดเผยใบหน้าแก่สาธารณะ บุคคลกลุ่มนี้จึงต้องเสาะแสวงหาภาพถ่ายของบุคคลอื่น นำมาใช้สวมรอยอยู่เป็นประจำ จนลุถึงขั้นที่คิดว่าการกระทำของตนนั้นเป็น “สิทธิส่วนบุคคล”

แต่คำถามคือพวกผีกลัวอะไร ทำไมพวกเขาไม่กล้าเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง คำตอบก็คือ กลัวความผิดของตัวเอง

โดยปกติ คนทั่วไปที่ใช้งานเว็บไซต์เครือข่ายสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานบริษัท คนทำงานอิสระ พ่อค้าแม่ขายบนโลกออนไลน์หรือออฟไลน์ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อในการขาย หากเป็นสุจริตชนทั้งคนซื้อคนขาย อย่างน้อยที่สุด ภาพโปรไฟล์ก็ควรจะเป็นภาพถ่ายของตนเอง เพื่อยืนยันถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ การใช้ภาพการ์ตูน ภาพทิวทัศน์ ภาพยืนหันหลัง (ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่ภาพถ่ายของตน เพราะคิดว่าหากใช้ภาพถ่ายหันหลัง ก็คงจะมีคนเอาผิดได้ยาก เป็นเพราะไม่เห็นใบหน้าของเจ้าของภาพถ่ายตัวจริง) ราวกับการอำพรางตัวตน ปิดบังใบหน้า ปกปิดบุคลิกภาพ ผิดวิสัยของสุจริตชน อีกทั้งควรจะเป็นภาพถ่ายที่ถูกใช้เป็นประจำ รวมไปถึงชื่อเสียงเรียงนามที่ใช้สำหรับการติดต่อผู้คน ลูกค้า เพื่อนฝูง ที่จะต้องติดต่อสัมพันธ์ด้วย ก็จะต้องเป็นชื่อเดียวกัน ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันในกลุ่มสังคมที่ตนเองมีความสัมพันธ์อยู่ เช่น ลูกค้ารู้จัก เพื่อนรู้จัก แฟนรู้จัก คนรักรู้จัก

คนที่มีสังคมการงาน มีเพื่อนฝูง มีคนรู้จัก มีชื่อเสียง คนที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เป็นสุจริตชน ก็จะไม่มีลักษณะพฤติกรรมแบบมิจฉาชีพ จะไม่เปลี่ยนชื่อบ่อยครั้ง ไม่ตั้งชื่อเป็นจุดๆ เดียว ไม่ใช้สัญลักษณ์แปลกๆ ในการตั้งชื่อ หากมีความสุจริตจริงใจในการติดต่อพูดคุยกับผู้อื่น พวกเขาจะใช้ชื่อจริง ซึ่งอาจจะเป็นแค่ชื่อเล่นจริง ชื่อนามสกุลจริง ชื่อบริษัทห้างร้านของตน พวกเขาจะไม่ขึ่้น ภาพถ่ายโปรไฟล์เป็นภาพฉากหลังสีดำหรือภาพสีพื้นใดๆ

เพราะทั้งหมดนี้คือลักษณะพฤติกรรมแบบมิจฉาชีพในโลกออนไลน์นั่นเอง

โดยปกติ กลุ่มบุคคลที่เป็นมิจฉาชีพมักจะได้รับความรังเกียจจากคนทั่วไป เพราะหากคบหาสมาคมก็คอยแต่จะสร้างความเดือดร้อนให้ มากกว่าที่จะได้รับประโยชน์สุข โดยจะเป็นมิจฉาชีพก็ดี หรือจะไม่เป็นมิจฉาชีพก็ดี หากมีลักษณะพฤติกรรมแบบมิจฉาชีพแล้ว ย่อมเป็นที่น่าสงสัย น่าตั้งข้อครหา และเป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป ด้วยว่าพฤติกรรมของตนได้บ่งชี้ไปถึงลักษณะนิสัยใจคอที่อาจจะไม่ยอมเปิดเผยให้ผู้อื่นรับรู้ได้โดยง่าย

คุณ “ย้อน” ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลระบบการสนทนาออนไลน์ (ซึ่งได้ปิดตัวไปแล้ว) ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา คุณย้อนมีนิสัยชอบเก็บสะสมภาพถ่ายตลกโปกฮาบนโลกอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงสะสมคลิปโป๊ต่างๆ นานๆครั้งคุณ ย้อนก็ก็อปปี้เอาภาพโปรไฟล์ของหนุ่มๆ สาวๆ ที่สมัครลงทะเบียนไว้ แต่ไม่ค่อยล็อกอินเข้าใช้งาน ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ไม่มีคอมพิวเตอร์เป็นของตนเอง ในสมัยที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายเท่าทุกวันนี้

บางครั้ง คุณย้อนก็สวมรอยเอาภาพหนุ่มสาวเหล่านั้นไปเล่นหาเศษหาเลย ปลอมตัวเป็นคนขายของออนไลน์ พอลูกค้าหลงเชื่อโอนเงินมาให้ คุณย้อนก็ทำเป็นเงียบ

กล่าวกันว่ารายได้ของคุณย้อนนั้น มากยิ่งกว่าเงินเดือนของนายกรัฐมนตรีเสียอีก

ซึ่งแตกต่างจากคุณย้วย ที่มักรับงานฟรีแลนซ์เป็นผู้ดูแลระบบเว็บไซต์อยู่เป็นประจำ โดยครั้งหนึ่งระหว่างทำงานดูแลเว็บให้กับลูกค้า วันดีคืนดี พอถึงเวลาดึกๆ คุณย้วยก็วางถ้วยมาม่า แอบเข้าไปแก้ไขหน้าเว็บไซต์ในระหว่างที่ลูกค้ากำลังหลับ จัดการแก้ไขหมายเลขโทรศัพท์บนหน้าเว็บไซต์ ให้กลายเป็นหมายเลขของตน ปรากฏว่าลูกค้าโทรมาหาคุณย้วยอย่างมากมาย กว่าที่เจ้าของสินค้าตัวจริงจะตื่นนอน คุณย้วยก็รับทรัพย์ไปแล้วหลายพันบาท

ทั้งคุณย้อนและคุณย้วยเป็นบุคคลประเภทหนึ่งที่จะไม่ยอมเปิดเผยภาพถ่ายของตน รวมทั้งไม่ยอมที่จะใช้ชื่อจริงบนโลกออนไลน์เด็ดขาด นับตั้งแต่ยุคเว็บบอร์ดตลอดจนถึงยุคเฟซบุ๊ค ทั้งสองกรณีเป็นเพียงเหตุการณ์สมมุติ ให้เห็นถึงลักษณะพฤติกรรมแบบมิจฉาชีพนั่นเอง

สุดท้ายนี้ ขอให้คุณย้อนและคุณย้วยเดินทางไปสู่สุขคติภพ หากชาติหน้าฉันท์ใดมีจริง

ขออย่าได้เกิดมาเป็นคนอีก.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *