คอลัมนิสต์ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

รับจ้างหลอก : ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

แรกเจอกัน เราสบตาเพียงครู่ ข้าพเจ้าสัมผัสได้ถึงแววแห่งมิตรไมตรี

ในบรรยากาศร้านน้ำชากลางใจเมืองนราธิวาส ผู้คนส่วนใหญ่มักรู้จักหรือไม่ก็คุ้นหน้าค่าตากัน ด้วยใบหน้าแปลกตาและบุคลิกเสื้อผ้าอาภรณ์สะท้อนความเป็น “นักเดินทาง” ทำให้ข้าพเจ้าสนใจชายหนุ่มซึ่งกำลังนั่งอยู่คนเดียวที่โต๊ะหินอ่อนตรงข้าม แทบจะทันทีที่ได้พบเจอ

รอยยิ้มและดวงตา เคลื่อนให้หัวใจเราโอบเข้าหากัน

“มาเที่ยวหรือครับ” ข้าพเจ้าเอ่ยปากทักทาย
“ครับ” เขาตอบเสียงเบา ขณะมือหยิบปาท่องโก๋จิ้มนมสด แกล้มกาแฟโบราณซึ่งวางอยู่ตรงหน้า
เมื่อประตูมิตรภาพเปิด เรื่องเล่าของเขาจึงพรั่งพรู

เดินทางจากเมืองกรุง หวังมาท่องเที่ยวและเรียนรู้วิถีผู้คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเขาไม่เชื่อในข้อมูลข่าวสารของสื่อต่างๆ ที่ต่างพากันนำเสนอข่าวคราวด้านร้ายจากพื้นที่ เดี๋ยวก็ระเบิด เดี๋ยวก็ยิง เดี๋ยวก็เผายางรถยนต์กลางถนน สารพัดข่าวทำร้ายกัน ชวนหลอกหลอนสร้างภาพปีศาจร้ายเกาะกุมในใจผู้เสพข่าว

“ผมนั่งรถทัวร์จากสายใต้ยิงตรงมานราธิวาสเลย มาถึงวันแรกยังไม่ค่อยไปไหนมาก ได้แต่เดินวนเวียนอยู่ในเมือง อาหารการกินไม่แพงมาก ชอบครับ เสียอย่างเดียว ผมว่าค่ามอเตอร์ไซด์รับจ้างค่อนข้างแพง ตอนผมลงจากรถทัวร์ ต้องต่อมอเตอร์ไซด์จาก บขส. ไปที่พัก เขาคิดตั้ง ๖๐ บาท ทั้งที่ระยะทางไม่ไกลกันมากนัก”

หลังฟังเรื่องเล่าจากชายหนุม ข้าพเจ้าพอนึกภาพออกทันที ปกติมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่วิ่งวนอยู่ในตัวเมืองนราธิวาส จะคิดราคาโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๐-๔๐ บาท ที่นั่งบ่อยๆ จากสถานีขนส่งมาแถวตลาดเช้าหน้าโรงแรมอิมพีเรียล สนนราคา ๔๐ บาท ที่พักของเขาแม้จะอยู่อีกฟากถนน ทว่าอยู่ในระยะไม่ใกล้ไม่ไกลกันมากนัก

ราคาที่ถูกบวกเพิ่มขึ้น ๒๐ บาท อาจเป็นเพราะความเผลอเรอ ตั้งใจ หรือด้วยเงื่อนไขอะไรก็แล้วแต่ แต่อย่างน้อยที่สุด ย่อมทำให้เป็นบาดแผลทางความรู้สึกในใจอาคันตุกะที่มีต่อถิ่นเกิดของข้าพเจ้า

ย้อนคิดไปเมื่อหลายปีผ่านห้วงวัยหนุ่ม ข้าพเจ้าเคยประสบเหตุลักษณะนี้เช่นกันจากพวก “รับจ้างหลอก” โชคดีที่ต่อมามีบางเหตุการณ์สามารถลบริ้วรอยบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นได้ กระทั่งกลับกลายเป็น “ความทรงจำ” แสนงามที่ตราตรึงอยู่ในใจแม้กระทั่งบัดนี้

“พี่ครับ พวกผมจะรีบขึ้นรถทัวร์เดินทางไปเชียงใหม่ พอทราบไหมครับว่าตอนนี้ยังมีรถทัวร์วิ่งอีกไหม”

นัยอารมณ์เร่งรีบลนลานเพราะเกรงว่าจะตกรถในเวลาเย็นย่ำแล้ว คงทำให้สายตาคนขับสามล้อพลันเห็นภาพของเด็กหนุ่ม ๔-๕ คนที่แบกเป้หิ้วของพะรุงพะรังเพราะเพิ่งเดินทางลงมาจากภูเรือเป็น “เหยื่อ”

“มีครับๆ” เขารีบตอบ แล้วเร่งให้พวกเรากระโดดขึ้นรถ “เร็วเลย เดี๋ยวจะตกรถครับ เพราะจากนี้ไปไกลอยู่เหมือนกัน รถสองแถวหยุดวิ่งแล้ว เหลือสามล้อนี่แหละ”

ได้ฟังดังนั้น คณะเราจึงรีบพากันกระโจนขึ้นไปนั่งเบียดเสียดกันอยู่บนรถสามล้อถีบ บางคนต้องนั่งคุดคู้ ต่างใจเต้นระทึก เกรงว่าจะไปไม่ทันรถทัวร์ เพราะเงินที่พอมีเริ่มร่อยหรอลงมาก หากตกรถนั่นย่อมหมายถึงต้องหาที่พักแรมอีก ๑ ค่ำคืน กว่าจะได้เดินทางคงเป็นพรุ่งนี้ แต่หากทันรถ สามารถไปหลับนอนบนรถทัวร์ได้เลย ตื่นเช้าได้จังหวะถึงเป้าหมายเชียงใหม่พอดี ประหยัดเงินได้อีกพอควร

ปรากฏว่าระยะทางไม่ไกลอย่างที่คิด ใช้เวลาไม่นานเวลาคนถีบสามล้อรับจ้างพาพวกเราไปถึงสถานี บขส. แล้วรีบบอกราคาค่าโดยสาร

“๓๐๐ บาทครับ”

ในขณะเดียวกันนั้นเองที่ข้าพเจ้าสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ คือทำไมไฟฟ้าที่สถานี บขส. ปิดแทบจะหมดแล้ว บรรยากาศเงียบเชียบ ผู้คนไม่พลุกพล่าน

“โห ทำไมแพงจัง ระยะทางนิดเดียวเองนี่ครับ”
ใครบางคนในกลุ่มเราส่งเสียงอุทธรณ์ คนถีบสามล้อทำหน้าดุแสดงอาการไม่พอใจบอกว่าไม่แพงแล้ว
“มากันตั้งหลายคน แล้วมืดแล้วด้วย นี่ผมอุตส่าห์คิดราคาให้เป็นพิเศษแล้วนะ”

เขาพูดสำทับเหมือนทวงบุญคุณ เพื่อนบางคนไม่ยอม ขอต่อรองราคาอีก เกิดการโต้เถียงกันสักพัก คนถีบสามล้อรับจ้างจึงยอมลดราคาให้พวกเราเหลือ ๒๕๐ บาท ซึ่งนั่นถือว่ายังแพงอยู่ หากเทียบกับระยะทาง แต่พวกเราต้องยอมแล้วเพราะเกรงว่าจะไม่ทันรถทัวร์ รีบจ่ายเงินแล้วพากันหอบหิ้วของไปด้านในสถานี และนั่นทำให้พวกเราได้รับบทเรียนของการถูกหลอกระดับ ๒ ต่อ

ต่อแรก ค่าโดยสารรถสามล้อนับว่าแพงมาก หากเทียบกับระยะทาง
ต่อที่สอง รถทัวร์ไปเชียงใหม่ หมดตั้งแต่ตอนเย็นแล้ว

เดินต้อยๆ อยู่ริมถนน หมดเงิน หมดหวัง หมดความศรัทธาต่อความเป็นมนุษย์ของใครบางคน

จังหวะหนึ่งนั่นเอง มีรถสองแถวคันหนึ่งค่อยๆ วิ่งเลียบเข้ามาจอดขนานขอบถนน คนขับสูงวัยลดกระจกหน้าต่างลง พร้อมชะโงกหน้าออกมาถามพวกเรา

“จะไปไหนกันครับ”
“พวกผมจะไปเชียงใหม่ครับ พวกสามล้อบอกว่ามีรถทัวร์จากที่นี่ไปได้ พอมาถึงปรากฏว่ารถหมดแล้ว”
“เอาอีกแล้ว หลอกกันอีกแล้ว แย่จริงๆ ไม่เห็นใจผู้โดยสารเลย”

คนขับสบถถ้อย ก่อนจะเปิดประตูรถแล้วเดินอ้อมมายังจุดที่พวกเรายืนอยู่อย่างงงงัน เขาค่อยๆ อธิบายว่าถ้าจะไปเชียงใหม่ รอขึ้นรถไฟดีกว่า รถไฟจะมาถึงสถานีประมาณ ๔ ทุ่ม

“มาๆ เดี๋ยวผมไปส่งที่สถานีรถไฟให้ครับ” เขาเอ่ย พวกเราฟังแล้วได้แต่มองหน้ากันเลิ่กลั่กด้วยเกรงว่าจะถูกหลอกอีก ชายสูงวัยเหมือนจะอ่านใจออกรีบกล่าว “ไม่ต้องกลัวผมหลอกหรอกครับ ผมคนที่นี่ เกิดที่นี่ ดูบัตรประชาชนผมได้เลย”

พูดจบ รีบชักกระเป๋าเงินออกมา แล้วหยิบบัตรประชาชนออกมาให้ดู

“ผมไม่อยากให้คนต่างถิ่นเกิดความรู้สึกไม่ดีกับจังหวัดบ้านเกิดของผม ธรรมดาครับ ที่หนึ่งๆ ย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี คุณถูกหลอกมา ผมจะขอโทษแทนใจคนที่นี่ด้วยการขออนุญาตดูแลพวกคุณแทนนะครับ”

เหตุการณ์หลังจากนั้นคือความทรงจำหนึ่งที่แสนงดงาม เมื่อชายสูงวัยที่พวกเราไม่เคยรู้จักเชิญชวนพวกเราขึ้นรถสองแถวที่เขาขับ พาตระเวนเที่ยวชมทั่วเมือง ได้ดูแสงสี ได้สัมผัสบรรยากาศ ได้ยินเสียงหัวเราะ แถมท้ายด้วยการเลี้ยงอาหารเย็นอีก ๑ มื้อ นั่นเป็นครั้งแรกที่พวกเราได้เห็นลีลาการผัด “ผักบุ้งลอยฟ้า” อันแสนตื่นเต้นตราตรึง

ท้ายที่สุด ก่อนจะจากลากันที่สถานีรถไฟ ชายสูงวัยเดินมาส่งพวกเราถึงพื้นที่ด้านในสถานี เมื่อรถไฟเคลื่อนขบวนเข้าจอดเทียบชานชาลา พวกเราร่ำลากันพร้อมกับกล่าวคำขอบคุณจากเบื้องลึกสุดของหัวใจ

ถึงเวลา ขบวนรถไฟค่อยๆ เคลื่อนออกจากสถานี พวกเราซึ่งยังคงยืนอออยู่แถวบันไดทางขึ้น มือข้างหนึ่งถือราวบันไดไว้มั่น อีกข้างพากันโบกมือลาพร้อมส่งยิ้มให้กัน ภาพสุดท้ายที่ข้าพเจ้าเห็นก่อนสิ่งรอบข้างจะเคลื่อนจนลางเลือนพร่าไหว คือแววตาของชายคนหนึ่งซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ช่างเต็มไปด้วยความอ่อนโยน เปี่ยมเมตตา ให้เกียรติและเข้าใจ “ความเป็นมนุษย์”

ดวงตาของชายหนุ่มแปลกหน้าที่เริ่มคุ้นเคยฉายแวว มุ่งมั่นแต่อ่อนโยน ขณะเขาเล่าอีกหลากหลายเรื่องราวที่พบเจอในชีวิต เราแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ถ่ายเทความรู้สึกดีๆ ต่อกัน จนสายมากแล้ว แม้จะติดภารกิจบางอย่างอยู่ หากทว่าข้าพเจ้าตัดสินใจเอ่ยคำ

“วันนี้ผมว่างทั้งวัน เดี๋ยวจะอาสาพาเที่ยวเองครับ พาไปสัมผัสบรรยากาศให้ครบทั้ง ๓ จังหวัดเลย”

เราตั้งต้นจากหาดนราทัศน์ เลยไปบ้านทอน ออกบาเจาะ ไปสัมผัสมัสยิด ๓๐๐ ปี แล้ววิ่งไปตามถนนเพชรเกษมเพื่อมุ่งตรงสู่จังหวัดปัตตานี ระหว่างทางแวะชมมัสยิดกรือเซะ เมืองโบราณยะรัง ก่อนจะเข้าเมืองปัตตานี วนเวียนชมบรรยากาศสักพัก หาที่ทานข้าวเที่ยง ดื่มกาแฟ แล้วไปสักการะหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จากนั้นข้ามฟากสู่จังหวัดยะลา จนเย็นย่ำจึงลัดเลาะจากตัวเมืองยะลาผ่านรามัน รือเสาะ ข้ามเขาบูโด วนกลับสู่จังหวัดนราธิวาส

เช้าวันถัดมาเรานัดเจอกันอีกครั้ง ข้าพเจ้าตั้งใจพาเพื่อนนักเดินทางไปทานอาหารพื้นถิ่นมลายูที่ ร้านยะกังโภชนา แล้วพาไปเที่ยวเกาะยาวอีกครึ่งวัน ก่อนจะขับมายังสถานี บขส.นราธิวาส

“ขอบคุณมากครับที่ดูแลกันอย่างดี ถ้าเข้าเมืองกรุงเมื่อไร โทร.หาผมบ้างนะครับ จะได้ถือโอกาสดูแลพี่บ้าง”

เขาเอ่ยคำก่อนร่ำลา ข้าพเจ้ายิ้มตอบ ถึงเวลา เขาก้าวขึ้นไปบนรถทัวร์เพื่อเดินทางกลับเมืองกรุง เขาไม่พูดถึงเรื่องรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างอีก ข้าพเจ้าก็ไม่เอ่ยถึงเรื่องรถสามล้อรับจ้างที่ไหนๆ ในโลกนี้มีรถรับจ้างที่ “รับจ้างหลอก” อยู่ร่ำไป ตราบเมื่อหัวใจบางใครมีแต่ความโลภ การคดโกง การคิดเอาแต่ได้ กดทับสำนึกความดีงาม โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่ตามมา

รถบัสค่อยๆ เคลื่อนออกจากสถานี บขส. เราต่างโบกไม้โบกมือและส่งยิ้มให้กัน ข้าพเจ้ายืนส่งจนภาพชายหนุ่มนักเดินทางลับหายไปพร้อมกับรถบัส ขณะถ้อยประโยคหนึ่งของชายสูงวัยที่เคยดูแลพวกเราผุดขึ้นมาในใจ

“ผมไม่อยากให้คนต่างถิ่นเกิดความรู้สึกไม่ดีกับจังหวัดบ้านเกิดของผม ธรรมดาครับ ที่หนึ่งๆ ย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี คุณถูกหลอกมา ผมจะขอโทษแทนใจคนที่นี่ด้วยการขออนุญาตดูแลพวกคุณแทนนะครับ”

เหตุการณ์หลังจากนั้นนับเป็น “ความทรงจำ” ครั้งหนึ่งที่ชวนตราตรึงระหว่าง “เรา”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *