กองบรรณาธิการโกงต่างแดน

ใครกัน โกงแม้กระทั่ง ค่าตัวสมาชิกวง “แบ็คสตรีท บอย”

ลู เพิร์ลแมน เป็นชื่อของเจ้าของธุรกิจสายการบินเช่าเหมาลำที่เริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่ปี 1990 เขาก้าวเท้าเข้าสู่ธุรกิจดนตรีป็อปในช่วงท้ายของชีวิต จนกระทั่งชื่อเสียงและฝีไม้ลายมือในการทำธุรกิจดนตรีของเขาเป็นที่รู้จัก ด้วยความสามารถที่แท้จริงนั้นเอง เขาเป็นผู้ผลักดันวงดนตรีป็อปอย่างน้อยสองวงให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง หนึ่งในนั้นรวมถึงวงดนตรีบอยแบนด์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือวง แบ็คสตรีท บอย และนอกจากนี้ยังรวมไปถึง เอ็น ซิ้งค์, เทคไฟว์, โอลด์ ทาวน์ ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกเปิดเผย…

ไม่เพียงแต่ค่าตัวของเหล่านักร้องวงบอยแบนด์ แต่ยังรวมถึงรายได้จากการขายตั๋วคอนเสิร์ต และเงินจากการขายของที่ระลึก ที่ไม่เคยจ่ายให้กับผู้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ลู เพิร์ลแมน ผู้ทิ้งนิสัยเดิมของเขาไม่ได้ กลับกลายเป็นฝ่ายถูกเปิดโปงครั้งใหญ่

ลูผู้เริ่มต้นธุรกิจสายการบินเช่าเหมาลำ โดยไม่มีเครื่องบินแม้แต่ลำเดียว.

ด้วยเงิน 2.5 ล้านดอลลาร์ อาจจะเป็นเงินก้อนแรกที่ทำให้ลูได้สัมผัสชีวิตเศรษฐีเงินล้าน แต่เงินทั้งหมดนั้นได้มาจากการประกันอุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นกับเรือบินที่เขาริเริ่มสร้างขึ้นในฐานะสื่อโฆษณาที่ออกบินไปทั่วนิวยอร์ค หลังจากนั้นเขาหาเงินได้มากในแต่ละปี ด้วยการก่อตั้งบริษัท ทรานส์ คอนติเนนตัล แอร์ไลน์ บริษัทสายการบินที่สร้างโฆษณาบนหน้านิตยสาร ด้วยการใช้เครื่องบินเด็กเล่นเพียงลำเดียว แต่กลับล่อลวงเงินลงทุนได้มากถึง 300 ล้านดอลลาร์

มากกว่า 20 ปีที่ ลู เพิร์ลแมน จมดิ่งอยู่กับธุรกิจหลายอย่างที่หาความจริงไม่เจอ

ถ้าคิดถึงชายร่างใหญ่ ดูคล้ายว่าจิตใจดี เป็นกันเอง พูดจาสนุก ทุกคนอาจจะคิดถึงลู ด้วยความร่าเริง มีวาทศิลป์ในการชักจูงโน้มน้าวจิตใจของคน หลายคนขนานนามเขาอย่างรักใคร่ว่า “บิ๊กปับป้า”

แม้ว่าที่จริง เขาจะเป็นนักหลอกลวงต้มตุ๋นตัวยงก็ตาม

จากเงินจำนวนไม่มากที่เขาได้รับจากบริษัทประกัน สิ่งที่ลูต้องการต่อไปคือเงินที่มีจำนวนมากขึ้น มันเป็นเรื่องธรรมดาของนักหลอกลวงต้มตุ๋น พวกเขาต้องการเหยื่อรายใหญ่ขึ้น ต้องการการหลอกลวงที่มีมูลค่ามากขึ้น

ราวกับพวกเขากำลังเล่นเกมกับตัวเอง

ตลอด 20 ปีของการประกอบธุรกิจสายการบิน ลูอาศัยการเช่าเครื่องบินขนาดเล็กจากผู้ให้บริการอื่น ทั้งที่ในเอกสารของบริษัทระบุชัดเจนว่า ทรานส์ คอนติเนนตัล แอร์ไลน์ อิงค์ กับ ทรานส์ คอนติเนนตัล แอร์ไลน์ ทราเวล เซอร์วิซ มีทรัพย์สินเป็นเครื่องบินเจ็ทมากถึง 49 ลำ แม้ในช่วงแรกของธุรกิจต้มตุ๋นนี้ เขาจะสามารถระดมทุนได้มากถึง 78 ล้านดอลลาร์ แต่เงินทั้งหมดไม่เคยถูกใช้ในการลงทุนเพื่อประโยชน์ของบริษัท ลูยังคงสร้างภาพเพื่อหลอกลวงต้มตุ๋นกลุ่มนักลงทุนที่คาดหวังแต่ผลกำไรต่อไป และเพื่อความสมจริงชนิดที่ไม่สามารถระแคะระคายหรือตั้งข้อสงสัยได้ ลูยังก่อตั้งธนาคารสัญชาติเยอรมัน กับบริษัทบัญชีในฟลอริดาที่ชื่อ โคเฮ็น แอนด์ ซีเกิล ขึ้น โดยทั้งสองอย่างหลังนี้ ล้วนเป็นธุรกิจที่หลอกลวงทั้งสิ้น

ดูคล้ายว่าเขาไม่ได้สนใจธุรกิจนี้จริงจังนัก นักลงทุนจำนวนมากต่างหาก ที่เป็นฝ่ายต้องการหุ้นของบริษัทเขาเมื่อทุกอย่างง่าย ดังนั้นลูจึงก้าวไปอีกขั้น เมื่อเขาคิดแผนการสูบเงินทุนจากผู้ถือหุ้นทั้งหมด โดยอ้างว่าเป็นการออมทรัพย์สำหรับชีวิตวัยเกษียณเพื่อพนักงานทั้งหมดของสายการบิน…ที่ไม่เคยมีอยู่จริง

หากย้อนกลับไปในช่วงปลายของยุค 80 ลู เพิร์ลแมน เคยได้รับแรงบันดาลใจจากวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ชื่อเสียงของ นิว คิด ออน เดอะ บล็อก ในฐานะวงดนตรีพันล้านอีกวงหนึ่ง ทำให้บิ๊กปัปป้าเชื่อว่าเขาสามารถทำแบบนั้นได้ ด้วยการลงทุนที่ไม่มากนัก อาศัยการลงโฆษณากรอบเล็กบนหน้าสิ่งพิมพ์ต่างๆ ชายหนุ่มหน้าตาดีจำนวนมากทยอยมาหาเขาอย่างไม่ขาดสาย และสุดท้าย มันกลายเป็นวง แบ็คสตรีท บอย ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีป็อปอเมริกัน ด้วยยอดขายอัลบั้มมากว่า 130 ล้านชุด และกลายเป็นวงดนตรีที่โด่งดังไปทั่วโลก

หากเพียงคิดเลิกเป็นนักหลอกลวง เขาคงสามารถร่ำรวยด้วยอาชีพธุรกิจบันเทิงได้ แต่ลูไม่ได้แตกต่างจากนักหลอกลวงต้มตุ๋นนัก เขาหากินด้วยวิธีนี้มาตลอด ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถหยุดตัวเองได้

สมาชิกวงแบ็คสตรีท บอย เป็นศิลปินกลุ่มแรกที่เริ่มฟ้องร้องผู้ให้กำเนิดพวกเขา ตามด้วยอีกหลายวงที่ไม่เคยได้รับผลตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อเข้าตาจน ลูจึงถึงคราวตกต่ำ เขากลายเป็นคนขี้โกงในสายตาของคนอื่นไปแล้ว รายได้ที่เคยมีเริ่มหดหายเมื่อบรรดาศิลปินทยอยลาจากเขาไป เขาคิดวิธีหาเงินสารพัดอย่าง รวมถึงจ้างบริษัทบัญชีเล็กๆ มาทำการตรวจสอบบัญชีทั้งหมดของเขา ผลก็คือเจ้าหน้าที่บัญชีพบร่องรอยของความผิดปกติทางการเงินเป็นจำนวนมาก แทนที่จะเป็นฝ่ายช่วยบิ๊กปัปป้าหาเงิน เจ้าหน้าที่ผู้นั้นกลับเป็นฝ่ายตั้งข้อกล่าวหาเขาเสียเอง เมื่อพบว่าลูมีแม้กระทั่งบริษัทบัญชีปลอมๆ

สำนักงานการเงิน รัฐฟลอริดา ตรวจสอบพบว่า ลู เพิร์ลแมน เป็นหนี้นักลงทุนมากกว่า 96 ล้านดอลลาร์ แต่เขากลับมีเงินในบัญชีธนาคารไม่ถึง 15,000 ดอลลาร์ นอกจากนี้ยังพบว่าเขาเบิกเงินจากบัญชีของตนเอง และบัญชีของบริษัทมากกว่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐ

แม้ว่าพยายามหลบหนีออกนอกประเทศแล้ว แต่เขาถูกจับกุมตัวโดย FBI ขณะถูกไล่ออกจากประเทศอินโดนีเซีย และถูกตัดสินจำคุกนานถึง 25 ปี ในข้อหาฟอกเงิน.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *