กองบรรณาธิการสัมภาษณ์

เจษฎา สมาธิ : Strong จิตพอเพียง นครศรีธรรมราช

เรื่องราวของชมรม “สตรอง จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดนครศรีธรรมราช” ที่มักเป็นต้นเรื่องของข่าวใหญ่ๆ เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นในหัวเมืองภาคใต้ เช่นข่าวใหญ่ระดับประเทศว่าด้วยเรื่องการทุจริตอาหารกลางวันเด็กที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานีย้อนกลับไปก็เป็นฝีมือการจุดประกายผ่านสื่อใหม่โดยชมรมสตรอง นครศรีฯ นี่เอง

กล่าวกันว่าในเครือข่ายชมรมที่มีอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศไทย ชมรมสตรอง นครศรีฯ เป็นชมรมที่แอคทีฟและทำงานอย่างเข้มข้นที่สุดชมรมหนึ่ง สมกับที่เป็น 1 ใน 3 จังหวัดในกลุ่มนำร่อง 27 จังหวัด ซึ่งผ่านการอบรมโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นการสร้างเวทีให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตผ่านสื่อโซเชียล ซึ่งประชาชนคุ้นเคยเป็นอย่างดี

เราเดินทางมาถึงโรงแรม อีโค อินน์ บนถนนพัฒนาการคูขวาง เพื่อพูดคุยกับ “เจษฎา สมาธิ” ประธานชมรมสตรอง จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงเรื่องราวของการเฝ้าระวัง สืบหาข้อมูล และนำเสนอเรื่องราวการคอรัปชั่นผ่านสื่อใหม่ จนกลายเป็นข่าวใหญ่หลายครั้งหลายหน

อยากให้ช่วยเล่าที่มาของการตั้งกลุ่มชมรมสตรอง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ครับ ชมรมสตรองของเรา เกิดขึ้นมาเมื่อปี 2561 ซึ่งที่จริงเกิดขึ้นจากการที่สำนักงาน ปปช. ภาค 8 ได้จัดตั้งคณะกรรมการซึ่งเรียกว่าโค้ชสตรองจำนวน 10 คน ในปี 2556 โดยมีผมเป็น 1 ใน 10 ของโค้ชสตรอง มีหน้าที่เป็นผู้จัดตั้งชมรมสตรอง จิตพอเพียง ต้านทุจริต จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปีแรกให้โค้ชทั้ง 10 คนเป็นผู้บริหารชมรม เขาเรียกว่าโค้ชสตรองประจำจังหวัด หลังจากเราจัดตั้งชมรมขึ้นมา ในชมรมเราแบ่งเป็น 2 ส่วน ซึ่งไม่ต่างจากจังหวัดอื่นๆ ส่วนหนึ่งเรียกว่าฝ่ายวิชาการ จะทำงานด้านวิชาการ ให้ความรู้เรื่องการทุจริต ให้ความรู้ในเรื่องความหมายของคำว่าสตรอง (S.T.R.O.N.G.) ว่าหมายความว่าอย่างไร

จริงๆ แล้ว คำว่า S.T.R.O.N.G. มีความหมายว่าอย่างไรครับ
ที่จริงคำว่าสตรองก็มีความหมายของมัน เช่นตัว S คือ sufficient ความพอเพียง ความพอเพียงมันเป็นยังไง ทุกคนต้องอยู่ภายใต้ความพอเพียง ตัว T มาจาก transparency ก็คือความโปร่งใส ทุกคนทำงานต้องมีความโปร่งใสในตัว เพราะจะไปตรวจสอบผู้อื่น เราต้องโปร่งใสก่อน หลังจากเราทำตัวเองให้โปร่งใสแล้ว เราก็ต้องมีตัว R ย่อมาจากคำว่า realize หมายถึงตื่นรู้ เราต้องรู้ว่าสถานการณ์การทุจริตมันเป็นยังไง การทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการมันมีเล่ห์เหลี่ยมขนาดไหน ต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้ตลอด ต้องตื่นรู้เรื่องการทุจริต พอตื่นรู้เสร็จ จะไม่ทนแล้ว ตัว O ก็จะตามมาก็คือ Onward จะไม่นิ่งเฉย ต้องไปข้างหน้า ต้องต่อสู้กับการทุจริต ไม่ทนกับการทุจริต ตัว N คือ Knowledge ก็คือต้องหมั่นหาความรู้อยู่เรื่อย ความรู้ในเรื่องที่อบรม ในเรื่องของการค้นหาเอกสารของทางราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้เราเห็นว่าการทุจริตเรื่องนี้ เช่นการทำถนนนี้ สัญญาการจัดซื้อจัดจ้างมันเป็นยังไง งบประมาณมันเท่าไร ใครเป็นเจ้าของเรื่อง ก็ไปค้นได้จากกรมบัญชีกลาง อันนี้ก็มาจากตัว Knowledge ตัวสุดท้ายก็คือตัว G คือ Generosity คือความเอื้ออาทร การทำงานของเราไม่ใช่ว่าจะเอาให้มั่นคั้นให้ตาย หรือในองค์กรของเราเองก็ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต้องเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ต้องมีการแบ่งปัน ต้องมีการให้ และกับหน่วยงานที่เราไปเกี่ยวข้อง

เวลาไปตรวจสอบเขาต้องเอื้ออาทรไหมครับ
ไปตรวจสอบเขาก็เหมือนกัน ไม่ใช่ไปกล่าวหาเขา หรือไปหาผลประโยชน์จากเขา เราทำงานแบบเอื้ออาทร แบบกัลยาณมิตรกัน อันนี้เป็นที่มาของคำว่าสตรอง ฝ่ายวิชาการของชมรมเขาจะมีการสอนแบบนี้ สอนให้รู้จักคำว่าสตรองของตัวเราก่อน แล้วสุดท้ายเราก็จะเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ให้แก่ประชาชน

อะไรบ้างครับ ที่เครือข่ายชมรมสตรองช่วยทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ
เราช่วยทำให้ประชาชนแยกแยะได้ว่าอะไรคือผลประโยชน์ส่วนตน อะไรคือผลประโยชน์ส่วนรวม และอะไรคือผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าพิษภัยของการทุจริต การประพฤติมิชอบในวงราชการ มันมีพิษภัยมหาศาล ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาจากภาษีของพวกเราทั้งนั้น แล้วเราจะทนนิ่งให้เขามาทุจริตได้ยังไง ทนให้เขาเข้ามากอบโกยได้ยังไง เราจะต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา อย่างพวกผมพร้อมที่จะเสียสละเข้ามาเป็นตัวแทนของท่านแล้วเรามาช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน อันนี้เป็นวัตถุประสงค์ของชมรมของเรา

อย่างวันนี้ทางชมรมก็จัดการอบรมเพื่อขยายเครือข่ายด้วย
อย่างกิจกรรมวันนี้เป็นกิจกรรมป้องกันการทุจริตเชิงรุก โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน สิ่งที่เราทำก็คือว่าเราใช้คำว่าป้องกัน เพราะชมรมไม่มีหน้าที่ไปปราบปราม เพราะ ปปช. เองจะมีอักษรย่อ ป.ปลา อยู่ 2 ตัว นั่นคือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะเน้นอยู่ที่ป้องกันกับปราบปราม สองอย่าง เราจะอยู่ในชุดป้องกัน ไม่ได้อยู่ในชุดปราบปราม ก็คือทำยังไงอย่าให้มันเกิดการทุจริต หรือถ้ามันผิดแล้ว จะทำยังไงให้มันถูก อย่างที่ผมบอกว่าเราเอื้ออาทรต่อกัน ปปช. เองก็ไม่ใช่ว่าอยากจะเข่นฆ่าใครสักคนหรอก แต่ถ้าห้ามไม่ฟังแล้ว ทุกอย่างมันเป็นไปแล้ว มันเบ็ดเสร็จ มันห้ามไม่ได้แล้ว แก้ไม่ได้แล้ว อันนี้ค่อยว่ากัน เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฝ่ายปราบปราม ฝ่ายไต่สวนที่จะต้องลงไปเอาผิด เราก็เป็นฝ่ายที่ป้องกันเชิงรุก แล้วเราก็ทำสำเร็จมาหลายเรื่อง

ชมรมสตรองมีส่วนช่วยให้ประชาชนรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการทุจริตเพิ่มมากขึ้นไหมครับ
อย่างจังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนนี้ผมเองก็ยังไม่รู้ว่า ค่า CPI ของเราอยู่ที่เท่าไร

ค่า CPI คืออะไรครับ
ค่า cpi คือ ค่าการรับรู้เกี่ยวกับการทุจริต ที่ตอนนี้ประเทศของเราน่าจะตกถึงอันดับที่ 102 แล้ว จากอันดับที่ 99 เราจะอยู่ที่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์มาตลอด ไม่ยอมเพิ่ม ก็ไม่อยากจะพูดเรื่องรัฐบาลมาก พูดถึงสถานการณ์ดีกว่า ว่าในปัจจุบันนี้เปอร์เซนต์ก็ยิ่งน้อยลง เราจะทำยังไงให้คนรับรู้เรื่องราวการทุจริตคอรัปชั่นให้มากขึ้น ตรงนี้เป็นปัญหาที่ต้องวางแผน โดนเฉพาะภาคเอกชนที่เราไปไม่ถึง

ประชาชนอาจจะรับรู้แต่ไม่สนใจหรือเปล่า อย่างผลสำรวจที่บอกว่าคนรุ่นใหม่เชื่ออีกอย่าง คือ “โกงได้ไม่เป็นไร ถ้าได้ผลประโยชน์ด้วย” เขาอาจจะคิดอย่างนั้นหรือเปล่า
คือไม่ใช่ว่าไม่สน ผมว่าเขารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผมมองว่าคนรุ่นใหม่คงไม่มองว่าโกงได้ ถ้าเราได้ด้วยหรอก ผมคิดว่ามันเป็นวาทกรรมที่ถูกพูดขึ้นมา จริงๆ แล้วไม่มีใครชอบเรื่องโกงหรอก

อย่างเมื่อกี้พูดถึงภาคเอกชนก็มีการคอรัปชั่นเยอะ ไม่แพ้ภาครัฐเช่นกัน
ใช่ อย่างในการทำงาน บางครั้งต้องมีส่วนได้เสีย คนทำงานอาจจะมีค่าน้ำชงน้ำชา อันนี้คือปัญหา ก็ไม่อยากจะใช้คำว่าโกงหรอก เพียงแต่ว่าเราจะทำยังไง ภาคเอกชนจึงจะเข้าใจว่าการที่คุณไปทำอะไรกับทางราชการ แล้วคุณไปเอาเปรียบคนอื่น สมมุติว่าไปทำงาน ไปโอนทะเบียนที่ดิน หรือจดทะเบียนที่ดิน ไปจดการโอนการซื้อขาย คุณก็เข้าช่องไปเหมือนกับคนธรรมดา แล้วเข้าไปทำตามระเบียบทุกอย่าง ไม่ใช่คุณไปคุยวงในกัน แล้วคุณยัดเงินให้กับข้าราชการ แล้วคุณก็กลับ แล้วก็ได้รับการอำนวยความสะดวก ผมว่านี่แหละ ต้องไปบอกภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสภาหอการค้า สมาคมอุตสาหกรรม คุณจำเป็นจะต้องเข้า มามีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริต โดยพวกคุณนี่แหละ ภาคเอกชนนี่แหละจะต้องเข้ามารับรู้ด้วย หน้าที่ของชมรม อีกตัวหนึ่งก็คือต้องทำเรื่องเหล่านี้ ซึ่งยัังทำไม่สำเร็จอยู่

นอกจากนี้ ชมรมสตรองยังมีหน้าที่อื่นๆ อีกไหมครับ
หน้าที่ตัวสุดท้ายของเราที่ได้รับมอบหมายมา ก็คือการสร้างภาคี เช่น สร้างภาคีกับผู้สื่อข่าว สร้างภาคีกับหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐ สร้างภาคีกับภาคเอกชน สร้างภาคีกับหน่วยงานที่มีการทำงานเหมือนๆ กับเรา เช่นองค์กรหมาเฝ้าบ้าน สำนักข่าวอิศรา ซึ่งการสร้างภาคีเป็นสิ่งหนึ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้

ตอนนี้เข้าสู่ปีที่ 2 ของชมรมแล้ว งานของชมรมก้าวหน้าไปยังไงบ้าง
ในปีที่ 2 ของเรา เรามีสมาชิกมากถึง 200 กว่าคนแล้ว เราขยายเครือข่ายไปทุกอำเภอ ใจผมอยากจะขยายไปทุกตำบล อยากให้ทุกตำบลมีสมาชิกของเราอย่างน้อย 1 คน หรือไม่ก็หมู่บ้านละ 1 คน เพื่อจะเฝ้าดูโครงการสองแสน-สองแสนห้าของรัฐที่กำลังเข้าไปสู่หมู่บ้าน (โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ) โดยจะให้สมาชิกของเราคอยจับตามอง เพราะเงินที่ส่งลงไปหมู่บ้าน เป็นเงินภาษีประชาชน ไม่ใช่เงินของนายกฯ ไม่ใช้เงินของคณะรัฐมนตรี หรือไม่ใช่เงินคนใดคนหนึ่ง ประชาชนต้องรับทราบ ต้องรับรู้ว่าเงินก้อนนี้ถูกใช้ไปอย่างไร ทันเกิดผลประโยชน์กับประชาชนอย่างไร

อย่างคำว่าจิตพอเพียงในชื่อชมรม เวลาที่ทางชมรมสื่อสารหรือจัดการอบรม มีวิธีการสื่อสารกับประชาชนอย่างไรครับ
คำว่าจิตพอเพียงเป็นวาทกรรมซึ่งถอดมาจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ตัวเราเองจะต้องครองตนก่อน ต้องทำตนให้เป็นผู้มีคุณธรรม ต้องรู้จักถูกผิด ต้องทำให้ได้ หลีกการทำชั่ว หลีกการทำผิด แล้วทำความดี นั่นคือการครองตนว่าคุณมีความพอเพียง คุณรู้จักความพอประมาณ ถ้าครองตนตรงนี้ได้ คุณจะเลิกจากการทุจริต คำว่าการทุจริต ผมให้ความหมายสั้นๆ ว่าเป็นการเอาของที่ไม่ใช่ของเรามาเป็นของเรา โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าคุณรู้จักความพอเพียง คุณมีจิตพอเพียงอยู่ในตัว คุณจะไม่ทำ พอแล้ว ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องทำ คุณเอาเงินมาให้ผมสิบล้าน ผมก็ไม่เอาให้ผมแสนนึงก็ไม่เอา ผมไม่ต้องมาแย่งซื้อตำแหน่งของผม ผมได้เงินเดือนแค่นี้ ผมอยู่ได้แล้ว นี่คือความพอเพียง แล้วจิตพอเพียงของทางชมรมยังกว่างหว่านี้ หมายถึงการไม่ไปกลั่นแกล้งคนอื่น เราไม่ไปว่าร้ายคนอื่น ไม่ไปใส่ร้ายคนอื่น เราจะทำในส่วนที่เราเห็นว่าเป็น ผลกระทบต่อส่วนรวม ที่เป็นส่วนตนก็แยกให้ออก ในจิตพอเพียงยังคลุมไปถึงตรงนี้

ในการอบรมแต่ละครั้ง ได้ผลการตอบรับที่ดีไหมครับ
ดีครับ เราจัดการอบรมรุ่นหนึ่งประมาณ 25 คนเท่านั้นด้วยขีดจำกัดที่เรามีงบประมาณไม่มากมายนัก ทาง ปปช. ก็สนับสนุนงบประมาณให้ ในจำนวนสมาชิก 200 กว่าคนที่ผมบอกแล้ว เราแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่เราทำการอบรมนี้เรียกว่าส่วนปฏิบัติการ อีกส่วนก็เป็นฝ่ายวิชาการอย่างที่ผมบอก

นอกจากเรื่องพอเพียงแล้ว ทางชมรมอบรมอะไรบ้าง
ฝ่ายปฏิบัติการนี้ ถ้าเราพูดแบบการทำศึกสงครามก็เรียกได้ว่าเป็นหน่วยรบ พวกนี้จะต้องรู้ว่าถนนตรงนี้ทำเสร็จแล้ว เป็นหลุมเป็นบ่อ ไปดูสิว่ามันเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นคนสร้าง ใครเป็นคนทำ งบประมาณเท่าไร หน่วยนี้จะต้องไปตีแผ่ออกมา

ทางชมรมประสบปัญหาอะไรบ้างไหมครับ อย่างที่ได้คุยกันก่อนบันทึกเสียงสัมภาษณ์ เห็นบอกว่าเคยได้รับการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย
ปัญหาตรงนี้ก็เป็นปัญหาหนึ่งของชมรมเหมือนกัน ที่ทางเราจะต้องระมัดระวัง แต่ปัญหาจริงๆ ก็คือปัญหาในเรื่องงบประมาณมากกว่าครับ ชมรมเราไม่มีงบประมาณ ที่จะทำอะไร เครื่องไม้เครื่องมือเราก็ไม่ค่อยมี ทุกคนทำด้วยใจ ทำด้วยจิตสำนึก จิตอาสาของเรา และต้องควักงบประมาณของตัวเองออกไปทำงานครับ

สมาชิกของชมรมก็ใช้เงินส่วนตัวเหมือนกัน ?
ต้องใช้เงินของตัวเองไปทำงานครับ แม้แต่โทรศัพท์ก็ใช้ของตัวเอง ทุกอย่างจ่ายเอง แต่กิจกรรมการอบรม ทาง ปปช. เขาออกให้ เขามีงบประมาณมาให้เรา ในส่วนของการทำกิจกรรมนี้ ถ้าเป็นกิจกรรมภายใต้กรอบของ ปปช. เราก็ใช้งบของ ปปช. แต่กิจกรรมที่เราไปสอดส่อง ไปล่าข่าว ไปหาข้อมูล ตรงนี้ ปปช. ไม่ได้ให้งบประมาณเราเลย

อย่างการจัดการอบรมขยายเครือข่ายสมาชิก เป็นการริเริ่มโดยทางชมรมนครศรีฯ แต่ทาง ปปช. ให้งบประมาณอุดหนุน แล้วทาง ปปช. เข้ามากำหนดกิจกรรมของเรามากน้อยแค่ไหน หรือว่าปล่อยให้เราทำงานอย่างอิสระ
ไม่กำหนดครับ เขาให้เราเขียนแผนงานเองเลย สมมุติเขาตั้งงบไว้ให้ปีละสามแสน เขาก็ให้เราทำแผนเอง แต่จะมีกรอบให้เรากว้างๆ เท่านั้น ว่างบประมาณทั้งหมดจะต้องใช้จ่ายในด้านนี้เท่านี้นะ เช่นด้านให้ความรู้ เป็นกิจกรรมให้เราทำภายใต้กรอบใหญ่ของ ปปช. ถ้าเราทำทั้งหมด เราก็เขียนแผนไป เราก็เขียนแผนด้านการให้ความรู้ด้านปฎิบัติ พอเขาอนุมัติแผนแล้ว เราก็ใช้งบประมาณได้ตามแผนนี้ แต่ถ้าอะไรที่เราทำนอกเหนอไปจากแผน เราก็ไม่สามารถไปเบิกเงินจาก ปปช. ได้

ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา อยากให้ช่วยยกตัวอย่าง ผลงานที่โดดเด่นของชมรมสตรอง นครศรีธรรมราช
ถ้าท่านเคยเห็นข่าวใหญ่ๆ เช่น ข่าวขนมจีนน้ำปลาที่เป็นอาหารกลางวันของเด็กที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัด สุราษฏร์ธานี ตอนนั้นที่ออกข่าวใหญ่ๆ เป็นฝีมือของชมรมเรา เพราะตอนนั้นชมรมสตรองยังไม่ได้จัดตั้งที่สุราษฏร์ธานี แต่เราก็เข้าไป เพราะว่าทนไม่ได้ เนื่องจากทางองค์กรหมาเผ้าบ้านได้รับการร้องเรียนจากประชาชน เขาก็เริ่มตี ชมรมสตรองก็ใส่ตามเข้าไป ในที่สุดก็เป็นข่าวดังไปทั่วโลก อันนี้ก็ถือว่าเป็นงานใหญ่

แล้วโครงการอื่นๆ ล่ะครับ
อีกโครงการหนึ่งเป็นโครงการที่ดูแล้วเหมือนจะเป็นโครงการสร้างห้องน้ำที่ทำเสร็จแล้ว แต่ทำแล้วมันใช้ไม่ได้ อันนี้เป็นโครงการที่บ้านคีรีวง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ แล้วทำในพื้นที่ของเอกชนด้วย โดยที่เอกชนก็ไม่ได้มอบที่ดินให้กับทางราชการ ซึ่งมันผิดระเบียบไปหมดทุกอย่าง ถ้าติดตามข่าวก็จะได้เห็น ตามโครงการบอกว่าเป็นห้องน้ำแหล่งท่องเที่ยว เป็นห้องน้ำผู้สูงอายุ อันนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ตอนนี้น่าจะถึง ปปช. แล้ว เห็น ปปช. ลงไปหาข้อมูลที่อำเภอแล้ว แล้วอีกที่ก็ที่แหลมตะลุมพุก ไปสร้างอาคารโล่งๆ แล้วติดแอร์ไว้ โดยที่ตัวอาคารไม่มีผนังกั้น แต่มีเครื่องปรับอากาศแขวนไว้ พอไปสอบถามเขา เขาบอกว่าสเปคมันเป็นแบบนี้ แต่มันจะเป็นแบบนี้ได้ยังไง ติดแอร์โดยไม่มีอะไรกั้น ติดแอร์กลางแจ้ง ก็เลยกลายเป็นโครงการแอร์กลางแจ้งไป

อย่างเรื่องหลังนี้ได้รับการแก้ไขไหมครับ
ตอนนี้ได้ข่าวว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชไปกั้นผนังแล้ว ท่านผู้ว่าฯ ไปหางบมาจากไหนไม่ทราบ ท่านก็ทนไม่ไหว ไปแก้ไขด้วยตัวเอง อันนี้ถือว่างานของเราสำเร็จ

ตอนนี้เรื่องที่กำลังดังในภาคใต้ คือเรื่องการสอบข้าราชการท้องถิ่นที่ชุมพร อันนี้ไม่ใช่งานของชมรม แต่ก็ร่วมนำเสนอด้วย
อันนี้จริงๆ เป็นผลงานของหมาเฝ้าบ้าน แต่สมาชิกของเราคนหนึ่งก็เป็นสมาชิกของหมาเฝ้าบ้านอยู่ แต่เขาเลือกมาเปิดเรื่อในเพจของชมรมเรา

อย่างในพื้นที่ภาคใต้นี้ ตั้งแต่มีชมรมสตรองขึ้นมา ปัญหาที่มีคนร้องเรียนมากที่สุด หรือที่ทางชมรมไปพบเจอ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอะไรครับ
เยอะแยะไปหมดครับ อย่างเรื่องถนนมีเยอะมาก สร้างผิดสเปค รถบรรทุกไปวิ่งจนถนนพังหมด ตอนนี้กำลังแก้กันอยู่ ให้เขาแก้ไขปัญหาเรื่องถนนกันในบางตำบล ไปประชุมร่วมกัน แล้วก็หาทางออกให้ คือเราไม่อยากจะให้ภาตเอกชนกับภาคประชาสังคมต้องทะเลาะกัน ก็ต้องไป แก้ปัญหาให้ อย่างภาคเอกชนก็เป็นพวกวิ่งรถบรรทุก แล้วก็บรรทุกน้ำหนักเกิน แต่ไปวิ่งบนถนนที่รองรับน้ำหนักได้ 21 ตันแบบนี้ คุณบรรทุกไป 30-40 ตัน ถนนมันก็พังหมด ทีนี้ก็ทะเลาะกันไป แต่ชาวบ้านไม่มีเสียง เราก็ไปเคลียร์ ไม่มีใครห้ามให้รถบรรทุกวิ่ง เพราะรถบรรทุกก็มีสิทธิ์ของเขา คุณวิ่งได้ แต่คุณต้องทำให้ถูกกฎหมาย ถ้าคุณทำผิดกฎหมาย ถนนเสียหาย ชาวบ้านเขาก็ต้องไปตั้งด่านร่วมกับตำรวจ ร่วมกับขนส่ง ร่วมกับทางหลวง ร่วมกับสำนักงานพัฒนาทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นเจ้าของถนนในชนบท เขาต้องมาร่วมกันที่จะตั้งด่านชั่งน้ำหนัก ก็ว่ากันไป หรือมาเรื่องถนนไม่ได้สเป็ค ทำเสร็จแล้วไม่ถึงสามเดือนก็เป็นหลุมเป็นบ่อ ร้องเข้ามา เราก็ลงไปดู ไกล่เกลี่ย เอ้า นายกฯ ทำได้ไหม ผู้รับจ้างทำได้ไหม ถ้าทำได้ก็แก้ปัญหาให้ถนนมันใช้ได้ ชาวบ้านก็แฮปปี้ ถือว่าเขาได้ใช้ประโยชน์ อันนี้เป็นเรื่องทีได้รับการร้องเรียนมา

อยากทราบว่าตั้งแต่คุณเจษฎาเป็นประธานของชมรมสตรอง จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นต้นมา โครงการของรัฐที่ทางชมรมต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาหรือว่าส่งเรื่องให้ทาง ปปช. รับเรื่อง อย่างโครงการใหญ่ๆ ที่สุดเลย เป็นโครงการของรัฐที่มีมูลค่าประมาณเท่าไร
ก็ประมาณร้อยกว่าล้าน เป็นโครงการสร้างอาคารโรงเรียนที่อำเภอทุ่งสง แต่ตอนนี้เราก็ยังไม่ได้แก้ไขนะ ผู้รับเหมาเขาเป็นฝ่ายร้องเรียนมาเอง เพราะเขาถูกหน่วยงานรัฐปรับเงิน และเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาทำงานงวดหนึ่งงวดสองเสร็จสิ้น พอสร้างเสร็จ 2 งวด กลับมีโครงการซ้อนเข้ามา สมมุติเขาสร้างอาคารอยู่ตรงกลาง แต่ไปทำถนนล้อมรอบบริเวณไซต์งานของเขา ทางฝ่ายนี้ก็เข้าไปทำงานไม่ได้ ก็ต้องรอให้เขาขุดดิน ต้องรอให้เขาทำถนน พอทำงานช้า ส่งงานช้าก็เสียค่าปรับ ทีนี้เอาเงินไปจ่ายค่าปรับจนหมด มันก็เลยทำงานต่อไม่ได้ เป้นความผิดพลาดของช่างคุมงานหรือใครก็ตาม เขาก็กำลังสอบสวนกันอยู่

แบบนี้โดยส่วนตัว คุณเจษฎามองว่ายังไง
ผมมองว่าช่างควบคุมงานเป็นคนผิดพลาดอย่างแรงเลย เขาเรียกว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ๆ ตัวเองรับผิดชอบ ไม่ได้ทุจริตหรอก แต่ประพฤติมิชอบ ผมว่าน่าจะเข้าข่าย ตอนนี้เรื่องอยู่ในอำนาจของ ปปช. แล้ว เราไม่เข้าไปยุ่ง แต่เราเป็นคนตีแผ่เรื่องนี้ออกไป ก็เป็นโครงการของรัฐที่มีมูลค่าร้อยกว่าล้าน แล้วก็เป็นโรงเรียนคนพิการด้วย เป็นโรงเรียนผู้ด้อยโอกาส ซึ่งผู้ด้อยโอกาสก็กำลังรอโรงเรียนอยู่ สามปีแล้วโรงเรียนก็ยังไม่เสร็จ

ถ้าให้คุณเจษฎาฝากอะไรถึงคนอ่านนิตยสารโกง ในเรื่องที่เกี่ยวกับการโกง การคอรัปชั่นในสังคมไทย ซึ่งทุกวันนี้มีเยอะมาก เราจะทำยังไง รับมือกับมันยังไง
ตรงนี้นะครับ ทุกอย่างต้องไม่ทน ต้องไม่นิ่ง ต้องไม่เฉย พบเรื่องการทุจริตตรงไหน ท่านส่งเรื่องเลยครับ อย่าทน อย่านิ่ง แค่สงสัยว่าจะมีการทุจริตหรือเปล่า แค่สงสัยว่าท่าทางไม่ดี ไม่ชอบมาพากล ท่านอย่านิ่ง อย่าอยู่เฉย อย่าบอกว่าธุระไม่ใช่ ท่านส่งเรื่องเลยครับ ส่งให้ ปปช. ส่งให้หมาเฝ้าบ้าน ส่งให้องค์กรแอคต์ หรือสำนักข่าวอิศรา หรือแม้แต่นิตยสารโกงเอง หรือมาที่ชมรมสตรอง จิตพอเพียงต้านทุจริต เรายินดีที่จะไปดำเนินการต่อ เราจะไม่นิ่ง ขอร้องว่าถ้าท่านทราบแล้ว เป็นหูเป็นตาให้เรา ท่านเชื่อเถอะครับ คนที่จะเข้ามาทำงานในเรื่องนี้มีเยอะ แต่เขาไม่กล้าแสดงตน ท่านส่งเรื่องมาให้เรา ส่วนชื่อท่านไม่ต้องส่งเข้ามา แค่ส่งข่าวมา ท่านไม่ต้องบอกว่าเป็นใคร พอท่านส่งมา เราก็ไม่ได้เชื่อท่านร้อยเปอร์เซนต์ เราต้องไปดูก่อนว่าที่ท่านบอกมาเป็นจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *