น้องตังเมบันเทิง

ปัง ปัง ศิลปนิพนธ์เจ๋งๆ ของบัณฑิต ม. ศิลปากร

วันนี้ น้องตังเม ผู้สื่อข่าวศิลปะประจำนิตยสารโกงกลับมารายงานข่าวที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอีกครั้ง เป็นเพราะได้ข่าวการจัดแสดงงานนิทรรศการ ปัง ปัง นิทรรศการศิลปนิพนธ์ โดย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งจัดกันมาเป็นครั้งที่ 49 แล้ว คราวนี้ถือเป็นงานครบรอบ 60 ปีของคณะ เฉพาะปีนี้ มีนักศึกษาจบใหม่ถึง 300 คน ไม่รู้จบมาจะไปหาสมัครงานที่ไหนกัน

ปัง ปัง ! คือเสียงประทัดนะครับ ไม่ใช่เสียงปืน เป็นเสียงประทัดแห่งการเฉลิมฉลองที่ดังขึ้นทุกปี พร้อมกับนิทรรศการแสดงงานตัวจบของนักศึกษามัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งยังไม่ต้องดูงานก็รู้แล้วว่าต้องมีงานเจ๋งแน่ เพราะว่าเด็ก ม.ศิลปากร ย่อมมีฝีมือเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ เป็นเรื่องแน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง

ยากที่มหาวิทยาลัยอื่นจะสามารถต่อกรได้

By My Slide : กระดานไม้ในรูปลักษณ์ใหม่
ผลงานออกแบบ โดย พัชรพร หวานชิด

มองจากภาพก็ทราบได้ทันใดว่าเป็นงานออกแบบแผ่นกระดานไม้สำหรับหาหอยเสียบ อ้อ ไม่ช่าย เขาใช้สำหรับทำกิจกรรมบนป่าชายเลน เป็นการออกแบบต่อยอดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มักใช้แผ่นกระดานไม้แบบนี้ในการทำมาหากินบนพื้นที่ที่เป็นโคลนเลน แต่คราวนี้ออกแบบสำหรับคุณน้องคุณหนูด้วยสีสันสดใส และรูปทรงโค้งมน น่ารักน่าใช้งาน สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรมนันทนาการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวป่าชายเลน สำหรับเด็กอายุ 6-9 ปี จากกรณีศึกษาป่าชายเลนคลองโคน จึงได้งานออกแบบที่มีฟังก์ชั่นใช้งานใหม่ออกมา 1 โปรเจ็กต์

Little Story : ห้องสมุดเคลื่อนที่ขนาดเล็ก ส่งเสริมการอ่านในชุมชนแออัด
ผลงานออกแบบ โดย เกษราภรณ์ จิตต์เทอดไทย

เด็กในชุมชนแออัดไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ เป็นด้วยคุณภาพชีวิตไม่สมบูรณ์ และสภาพแวดล้อมก็ไม่เอื้ออำนวย ห้องสมุดเคลื่อนที่ขนาดเล็กนี้สามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยรถเข็นเล็กๆ ที่ซอกแซกเข้าไปในเส้นทางคับแคบ มีฉากประกอบการเล่านิทานเด็กที่สามารถติดตั้งใช้งานได้ง่าย เรียกได้ว่างานนี้น้องๆ สลัมบอยได้ฟังนิทานกันสนุกแน่

เฟอร์นิเจอร์จากอัตลักษณ์ลิเกไทย
ผลงานออกแบบ โดย ขวัญตระกูล ประกายสกุล

ชุดเครื่องเรือนที่นำอัตลักษณ์หรือความเป็นลิเกแบบไทยๆ มาใช้เป็นคีย์หลักในการออกแบบ ผู้ออกแบบอธิบายว่าตัวฉากกั้นเปรียบเสมือนตัวร้ายบนเวทีลิเกที่คอยทำหน้าที่ขัดขวางตัวละครอื่น ส่วนการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด อ้างอิงจากเครื่องแต่งกายของนักแสดงลิเก ทั้งสีสันและวัสดุที่เลือกใช้ เรียกว่าใครมีเฟอร์ฯ ชุดนี้ในบ้าน ตื่นเช้ามาต้องร้องเพลงลิเกปลุกลูกปลุกเมียแน่ๆ

Journey in Bangkok
ผลงานออกแบบโดย วิภู บุญศิริยานนทชัย

ใช่ครับ นี่คืองานอิลัสสเตรทหรืองานภาพประกอบที่ถูกนำเสนอในรูปแบบของโบรชัวท่องเที่ยว ที่ออกแบบอย่างงดงามด้วยภาพลายเส้น ถือเป็นแนวคิดใหม่ที่นักท่องเที่ยวจะสามารถเก็บโบรชัวเหล่านี้ไว้เป็นที่ระลึกได้ ด้วยความสวยงามและการออกแบบอย่างปราณีต ไม่ใช่ว่าพอกลับถึงบ้านก็ลงถังขยะอย่างเดียว ด้วยการออกแบบอีกระดับ โบรชัวหรือสิ่งพิมพ์กระดาษอาจจะเอาชนะแผนที่บนมือถือได้ ถ้ามีความสวยงามน่าใช้กว่ากัน มันก็ไม่แน่

ผจญภัยในระบบสุริยะ : ของเล่นเพื่อการเรียนรู้
ผลงานออกแบบ โดย สุภาภรณ์ พวงพันธุ์ดี

นักออกแบบเห็นว่าความรู้เกี่ยวกับระบบสุริยจักรวาลเป็นหัวเรื่องที่เด็กทุกคนในระดับประถมศึกษาตอนต้นต้องเรียน รู้ จึงทำการออกแบบชุดของเล่นเพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ชุดนี้ขึ้น โดยสามารถเล่นพร้อมกันได้ถึง 5 คน ส่วนจะเล่นกันอย่างไรนั้น ผู้สื่อข่าวได้แต่ป้วนเปี้ยนดูๆ ของเล่นแล้วก็นึกอยากเล่นขึ้นมาบ้าง แต่สุดท้ายก็อดเล่น ได้แต่ดู เพราะเขาวางแสดงไว้เฉยๆ จนตอนนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าเขาเล่นกันแบบไหน – เศร้า

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *