กองบรรณาธิการสกู้ป

ประวัติศาสตร์การปราบโกงในประเทศไทย

*ข้อมูลบางส่วน จาก พิพิธภัณฑ์ต้านโกง

1.ตัวร้ายในประวัติศาสตร์ไทย
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ไทย เราเคยได้พบบันทึกเรื่องราวของคนที่มีความคดโกงอยู่บ้างหรือไม่ เรามักพบเรื่องราวที่บอกเล่าถึงพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาพระองค์ก่อนๆ ที่สร้างความรับรู้ถึงพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่ทรงทศพิธราชธรรม ซึ่งถือเป็นมุมมองของผู้ชนะที่สามารถผลัดเปลี่ยนแผ่นดินของราชอาณาจักรที่มีผู้ครอบครองมากถึง 5 ราชวงศ์ เรื่องราวของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ที่วางยาเบื่อพระไชยราชาธิราช เพื่อปลงพระชนม์และยกพันบุตรศรีเทพขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา หรือเรื่องราวของออกญาวิชชาเยนทร์ หรือ คอนแสตนติน ฟอลคอน ที่ใช้กำลังทหารของสมเด็จพระนารายณ์ห่ำหั่นศัตรูเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชนชาติตะวันตก ที่ถือเป็นเชื้อชาติเดียวกับตน

ตัวอย่างของเรื่องราวเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นภาพของ “ตัวร้าย” ในประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหน คนเราก็ล้วนแต่เห็นแก่ตัว โลภโมโทสันต์ และมักใหญ่ใฝ่สูง แต่หากเปรียบเทียบภาพประวัติศาสตร์ทั้งหมด เราก็พบว่าเรื่องราวเหล่านี้มีอยู่น้อยยิ่งกว่าน้อย การบันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงในพระราชพงศาวดารมักเป็นเรื่องราวที่ทำร้ายฝ่ายหนึ่ง เชิดชูอีกฝ่ายหนึ่ง ก่อนที่จะมีการบันทึกเรื่องราวเหตุบ้านการเมืองอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกที่การผลัดเปลี่ยนแผ่นดินข้ามราชวงศ์จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

แต่จะว่าไปแล้ว สำหรับการปราบปรามการโกง ก็เป็นเรื่องที่มีประวัติความเป็นมาเช่นกัน

2. ไพร่ฟ้าหน้าใส
“ไพร่ฟ้า ลูกเจ้าลูกขุน ผิแลผิดแผกแสก ว้างกัน สวนดู แท้แล้ จึ่งแล่งความ แก่ข้า ด้วยซื่อ บ่เข้าผู้ลัก มักผู้ซ่อน เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พีน เห็นสิ่นท่านบ่ใคร่เดือ-ด…”

“ใน ปากประตูมีกระดิ่งอันณื่ง แขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้า ปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความ เจ็บท้อง ข้องใจ มันจักกล่าวเถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกะ-ดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยิน เรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้วยซื่อ”

นี่คือข้อความส่วนหนึ่งบนหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งมีผู้ให้ความหมายของถ้อยคำในบทตอนนี้ว่า หากเกิดมีกรณีพิพาทขึ้นระหว่างราษฎร โดยจะเป็นไพร่ หรือจะเป็นลูกเจ้าลูกขุนก็ดี ถ้าอยู่ใกล้พระราชวัง ให้ไปสั่นกระดิ่งที่ปากประตูพระราชวัง พ่อขุนรามคำแหงจะเสด็จออกมาตัดสินข้อพิพาทด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ยังมีตัวแทนของพระองค์ในการตัดสินกรณีพิพาทอย่างยุติธรรมที่สุด โดยยึดถือหลักธรรมประจำใจว่า “ไม่กินสินบาทคาดสินบน” พร้อมกับเตือนสติเตือนใจว่าอย่าใส่ใจกับข้าวของเงินทองของผู้อื่น เพราะอาจจะทำให้การตัดสินคดีนั้นผิดพลาด หรือเกิดความไม่เที่ยงธรรมได้

จะเห็นว่าการตัดสินข้อพิพาทในสมัยสุโขทัยมีเจตนารมณ์ที่มุ่งไปสู่ความถูกต้องยุติธรรม เพราะบ้านเมืองคงไม่อาจตั้งอยู่ได้ หากมีคณะผู้ตัดสินชำระคดีความที่ไร้ความยุติธรรม หรือสนใจแต่ความเป็นอยู่อันหรูหรา

3. ข้าราชการกินเมือง
ลุมาถึงสมัยเมืองอยุธยาเป็นราชธานี ตามธรรมเนียมถือกันว่าผู้รับราชการบ้านเมืองเป็นข้ารับใช้แผ่นดิน จึงไม่มีเงินดาวน์เงินเดือนมอบให้เป็นค่าตอบแทน แต่สามารถใช้ยศศักดิ์ของตนสำหรับการหาประโยชน์โภชผล เช่นสามารถใช้ไพร่ในบังคับทำงานหาเงินให้ตนได้ และมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่ต้องส่งเข้าหลวง หรืออาจได้รับการยกเว้น ได้รับส่วนแบ่ง, ส่วนลด สำหรับการส่งเงินเข้าพระคลัง จึงมักใช้คำว่า “กินเมือง” กับข้าราชการในสมัยอยุธยา จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “กินบ้านกินเมือง” ในสมัยหลัง เพราะแม้จะยกเลิกระบบการตอบแทนโดยการใช้ยศศักดิ์ของตนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้เปลี่ยนมาจ่ายเงินตอบแทนแก่ข้าราชการเป็นรายเดือน แต่ปรากฏว่าข้าราชการไทยจำนวนหนึ่งยังคงชื่นชอบการใช้ยศใช้ตำแหน่ง แสวงหาผลประโยชน์จนกระทั่งปัจจุบันนี้

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ แม้ว่าจะอนุญาตให้ข้าราชการในสมัยอยุธยาใช้ยศศักดิ์หรือความเป็นข้าราชการของตนในการแสวงหาผลประโยชน์ แต่หากกระทำจนเกินควรก็จะเข้าข่ายเป็นการ “ฉ้อราษฏ์บังหลวง” ซึ่งความผิดนี้เทียบเท่ากับการทรยศแผ่นดินหรือเป็นการคิดคดต่อพระเจ้าแผ่นดิน มีโทษถึงขั้นแห่ประจานก่อนประหารชีวิต ถอดบรรดาศักดิ์ โดยการเฆี่ยนนั้นถือเป็นโทษสถานเบาที่สุด ดังนั้นโทษของการโกงกินหรือคอรัปชั่นในสมัยอยุธยา จึงถือว่ามีการลงโทษอย่างเด็ดขาด

4. กฎหมายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต้นยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นยุคแห่งการตรากฎหมายและพระราชบัญญัติต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกรมตรวจ ร.ศ. 109 รวมถึงการตรากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ถือเป็นประมวลกฎหมายอาญาฉบับแรกของไทย ซึ่งมีบางบทตอนเป็นเรื่องราวว่าด้วยความผิดฐานใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต มีการกำหนดโทษความผิดฐานทุจริตไว้อย่างเป็นหมวดหมู่ชัดเจน และได้ยกเลิกการตอบแทนข้าราชการในแบบ “กินเมือง” หันมาจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการแทน

5.กรมตรวจราชการแผ่นดิน
กรมตรวจราชการแผ่นดิน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2488 มีการประกาศใช้ พรบ. ว่าด้วยวิธีพิจารณาข้าราชการและพนักงานเทศบาลผู้ประพฤติผิดวินัยหรือหย่อนความสามารถ ถือเป็นการบัญญัติกฎหมายฉบับแรก สำหรับการวางโครงสร้างและกลไกในการตรวจสอบการทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

6. ยุค กตป.
รัฐบาลจากการรัฐประหาร นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร มองเห็นว่าระเบียบราชการบริหารแผ่นดินมีข้อบกพร่อง ต้องการลดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อน จึงรวมบทบาทของหน่วยงานทั้งสาม คือ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักคณะกรรมการเรื่องราวร้องทุกข์, และคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติเกี่ยวแก่ภาษีอากรเข้าด้วยกัน และเปลี่ยนเป็นสำนักงาน “คณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี” ตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา

รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร ยังเห็นชอบตั้งคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) โดยให้อำนาจหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่ ก.ต.ป. ให้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด หากบุคคลใดขัดขวางหรือไม่ให้ความร่วมมือ มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คณะกรรมการ ก.ต.ป. นี้ ถูกยกเลิกไปภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

7. ความเป็นมาของ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่เดิมถูกเรียกว่า คณะกรรมการ ป.ป.ป. การมาถึงของรัฐธรรมนูญปี 2540 ช่วยปรับเปลี่ยนบทบาทและช่องโหว่เรื่องระเบียบการทำงาน เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกลไกการตรวจสอบ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติหัวข้อเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และได้จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ขึ้น

8. ตัวร้ายยุคใหม่
กงล้อยังคงหมุนเวียนต่อไป จากการมองกลับไปสู่ประวัติศาสตร์เพื่อค้นหาตัวร้ายในหน้ากระดาษเก่าๆ กลับกลายเป็นการจารึกประวัติศาสตร์ด้วยรายชื่อใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร, นายสมัคร สุนทรเวช, นายประชา มาลีนนท์, นายวัฒนา อัศวเหม ฯลฯ

ชื่อเหล่านี้ได้กลายเป็นตัวร้ายในประวัติศาสตร์แล้ว.


  • วัฒนา อัศวเหม : จำคุกแค่ 3 ปียังหนีศาล !
    นาย วัฒนา อัศวเหม มีความผิดฐานฉ้อโกงการจัดซื้อที่ดิน อ.คลองด่าน จ.สมุทรปราการ มูลค่า 1.9 พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน และฉ้อโกงสัญญาการก่อสร้างฯ มูลค่าประมาณ 2.3 หมื่นล้าน เป็นคดีที่มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย มีจำเลยเป็นบุคคลผู้รับตำแหน่งทางการเมือง และเป็นผู้บริหารของบริษัทต่างๆ รวมถึงมีจำเลยเป็นชาวต่างชาติ หลายคนยอมติดคุก แต่นายวัฒนาเผ่นแน่บ !
  • ทักษิณ ชินวัตร : 2 ปีก็หนีเหมือนกัน
    คดีระหว่างอัยการสูงสุดกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 และนางพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 ที่รู้จักกันในชื่อคดีที่ดินรัชดาฯ เป็นผลสืบเนื่องจากนางพจมานประมูลซื้อที่ดิน จากหน่วยงานในสังกัดของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ซึ่งได้ปรับปรุงราคาที่ดินให้ลดลงถึง 2,000 ล้านบาท เพื่อทำการเปิดประมูลทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งในภายหลังนางพจมานชนะการประมูลที่ดินในราคาเพียง 772 ล้านบาท ในการประมูลรอบที่สองหลังจากนั้น 8 ปีเต็ม ผู้ชนะการประมูลได้ซื้อที่ดินผืนเดียวกันในราคา 1,815 ล้านบาท ซึ่งมีราคาสูงขึ้นถึง 153% ในเวลาเพียง 8 ปี รายนี้จะติดคุกจริงแค่ 2 ปีเท่านั้น แต่หนีคดีไปนานนับสิบปี จนกระทั่งตอนนี้หมายจับงอก ออกลูกออกหลานจนเกือบครบ 10 ใบแล้ว
  • 12 ปีแห่งความหลัง ของ ประชา มาลีนนท์
    คดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง 6,687 ล้าน ที่ในท้ายที่สุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุกนายประชาเป็นเวลา 12 ปี และจำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เป็นเวลา 10 ปี ตอนนี้ไม่รู้ว่านายประชาหนีเตลิดไปอยู่ที่ไหน รีบกลับมาเมืองไทยด่วน ลูกน้องเก่ากำลังคิดถึง
  • สมัครชิงตาย หนีคดีรถดับเพลิงก็อกสอง
    คดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง 6,687 ล้าน ยังมีก็อกสอง ศาลปกครองกลางออกคำสั่งให้ทายาทของนายสมัคร สุนทรเวช และนายประชา มาลีนนท์ ชดใช้เงินจำนวนรายละ 587,580,000 บาท เนื่องจากศาลพิจารณาเห็นว่าการกระทำของนายสมัครเป็นการเร่งรีบ ตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาโครงการและทำสัญญา โดยไม่ผ่านการตรวจร่างของอัยการสูงสุด เพื่อให้ทันก่อนที่นายสมัครจะพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการ กทม. ก่อนที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธินจะเข้ามารับตำแหน่ง และมีความพยายามที่จะยุติการซื้อขายนี้ ด้วยเหตุผลว่าไม่เป็นไปตามระเบียบของราชการ คำสั่งของศาลปกครองกลางนี้เกิดขึ้นหลังจากนายสมัครเสียชีวิตไปแล้วถึง 5 ปี เรียกว่าสำหรับนายสมัคร ไม่ทันแม้แต่จะหนี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *