WORK FROM HOME
“ข้าราชการ เช้าชามเย็นชาม”
เป็นประโยคเรียกขานแกมบ่นข้าราชการมาแต่ไหนแต่ไร สะท้อนความไร้ศักยภาพของข้าราชการที่ทำงานไปวันๆ อย่างซังกะตาย เหมือนคนที่ไร้ซึ่งการพัฒนา ขาดแรงบันดาลใจ ทำตามสั่ง ทำดีเสมอตัว ทำชั่วถ้าไม่ร้ายแรง ก็ไม่มีวันโดนไล่ออก จึงเป็นที่มาของฉายานี้ด้วยความประทับใจ บรรดาประชาชนผู้รับบริการทั้งหลายจึงพากันสรรเสริญจนเป็นที่รู้จัก สุดท้ายแล้ว คนที่รู้ซึ้งเป็นอย่างดีที่สุดคงเป็น “ข้าราชการ” ที่อยู่ในระบบอันแสนใหญ่โตอุ้ยอ้ายนี่เอง
ข้าพเจ้าเองอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อระบบอันเป็นที่มาของคำกล่าวนี้ สิ่งที่พบเห็นเป็นประจำก็คือ
“การโกงเวลา”
เริ่มตั้งแต่ตอนเช้า หน่วยงานราชการบางแห่งใช้ระบบสแกนนิ้วกันแล้ว มิค่อยมีปัญหา แต่หลายแห่งที่ยังคงเซ็นชื่อลงสมุดแบบเก่า ก็จะมีสายบ้าง กว่าเจ้าหน้าที่จะมาขีดเส้นก็ยืดหยุ่นกันไปราวครึ่งชั่วโมง
เซ็นชื่อมาทำงานตอนเช้า ลงเวลากลับเลยในคราวเดียว
เวลากลับที่ลงไว้คือสี่โมงครึ่ง แต่สามโมงก็เผ่นแล้ว สารพัดธุระประดามี ต้องรีบไปรับลูกกลับจากโรงเรียน มีงานที่บ้านตอนเย็น มีนัดหมอ ไปงานเผาศพ ฯลฯ
ไม่นับตอนกลางวันที่ออกไปกินข้าวเที่ยง เห็นอีกทีไปเดินเตร็ดเตร่ตามตลาดนัดหรือห้างสรรพสินค้า กว่าจะเข้ามาทำงานก็ปาไปบ่ายสอง
ถึงจะเป็นเช่นนี้กันหลายคน ก็ใช่ว่าจะไม่มีคนดี คนขยันทำงานเกินเวลา ทั้งที่ไม่มีโอทีก็มีถม ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและความรับผิดชอบล้วนๆ หัวหน้างานย่อมเป็นตัวอย่างให้ลูกน้อง หากหัวหน้าดีก็น่าสรรเสริญ ลูกน้องทำตามด้วยความชื่นชม หากหัวหน้าเป็นเสียเอง มิอาจดุว่าลูกน้องได้เต็มปาก เช่นนี้จะสอนอย่างไรก็เข้าตัว
อย่างไรก็ตาม ในความคิดของข้าพเจ้า ความรับผิดชอบต่องานย่อมมาก่อน หากมาทำงานตรงเวลาแต่นั่งเล่นเฟซบุ๊ค เล่นเกมทั้งวัน ย่อมมิใช่เรื่องดี ฉะนั้น แม้มาทำงานสายบ้าง แต่รับผิดชอบต่องานเป็นสำคัญย่อมดีกว่ามาก
เดี๋ยวนี้บริษัทเอกชนหลายแห่งมีนโยบายทำงานที่บ้าน (Work-From-Home) ส่งงานออนไลน์ โดยกำหนดเป็นนโยบายสัปดาห์ละ 1-2 วัน มีผลวิจัยเปรียบเทียบว่า ได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปกติถึง 13.5% ลดความตึงเครียด ประหยัดเวลา แถมไม่เสียสุขภาพจิตจากการเดินทางท่ามกลางการจราจรที่แออัดอีกด้วย การทำงานที่บ้าน (1 วันต่อสัปดาห์) จึงเป็นทางเลือกที่ดี (ยกเว้นงานบริการประชาชน) สิ่งสำคัญคืองานสำเร็จตามเวลาที่กำหนด รายงานผลให้ผู้บังคับบัญชาทราบเป็นระยะ สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที จะทำงานที่ไหนไม่สำคัญ พวกที่หายๆ หยุดๆ ติดต่อไม่ได้นั้นย่อมไม่อยู่ในข่ายนี้
สิ่งแวดล้อมในการทำงานคือแรงจูงใจสำคัญ หากมาทำงานแล้วระบบต่างๆ เอื้อให้เกิดความรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพ คนย่อมอยากมาทำงาน หากระบบมีหลายขั้นตอน จดหมายฉบับเดียวแก้แล้วแก้อีกในคำอันไม่เป็นสาระสำคัญ กว่าเอกสารจะถึงผู้มีอำนาจะลงนาม ต้องผ่านหลายโต๊ะหลายคนเซ็นผ่าน ทิ้งกระดาษไปเป็นสิบแผ่นเพราะโดนแก้ไขรอบแล้วรอบเล่า ย่อมสิ้นเปลืองทรัพยากร และแรงใจคนทำงาน เช่นนี้แล้ว จะหาคนกระตือรือร้น ตื่นเช้ามาอยากแล่นมาทำงานใจแทบขาดได้อย่างไร ขั้นตอนทางเอกสารที่ยุ่งยากใช้เวลานานนี้ปราบความสดใสของข้าราชการน้องใหม่มานักต่อนัก ปีแล้วปีเล่า ความสดใสกลายเป็นความซังกะตายในที่สุด นี่ละหนา ความมหัศจรรย์ของระบบราชการ
“เช้าครึ่งชาม เย็นครึ่งชาม” หัวข้อนี้มีที่มาจากชื่อหนังสือนวนิยายของ ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยรับราชการก่อนออกมาทำอาชีพนักเขียน ภาพสะท้อนระบบอันแสนอุ้ยอ้ายนี้บาดลึกเข้าไปในจิตใจของผู้อ่านทุกคน ตัวละครที่มาจากชีวิตจริงผสมผสานกับจินตนาการ บวกประสบการณ์ตรงของผู้เขียนผูกโยงเป็นเรื่องราวของข้าราชการหนุ่มผู้ตั้งใจทำงานในกรมจริยธรรมแห่งชาติตามเนื้อเรื่อง แต่เกิดอุปสรรคนานัปการ ช่างน่าสนุก อลวน ขันขื่น ลุ้นไปกับตัวละครเอก มีบางเหตุการณ์ที่พ้องไปกับบางสถานการณ์ของใครหลายคน อ่านแล้วผู้ที่ไม่เคยรับราชการจะได้จินตนาการภาพออกว่า ทุกอย่างล้วนเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวข้องเชื่อมโยงเข้าหากัน เนื้อหาบาดลึกเข้าไปในจิตใจโดยเฉพาะผู้ที่เป็นข้าราชการ เฉกเช่นเดียวกับข้าพเจ้า
ข้าราชการรับเงินเดือนจากภาษีประชาชน แม้ขาดแรงจูงใจเพียงใดก็ขอให้ตั้งอกตั้งใจทำงานเถิด ในเมื่อเข้ามารับราชการแล้ว มุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อประเทศ อย่าให้เช้าชามเย็นชามหรือ เช้าครึ่งชาม เย็นครึ่งชาม กันอีกเลย.