ไม่มีคนซื้อ ก็ไม่มีคนขาย
ความรู้การตลาดบอกไว้ว่า สินค้าทุกชนิด เมื่อไม่มีคนซื้อ ย่อมไม่มีคนนำมาขาย
ศรัทธา ความเชื่อ ก็เช่นเดียวกัน
คอลัมน์ ผ้าเจ็ดสี ตอนที่ 3 นำเสนอเหตุการณ์สมมติของนาย เจริญ รุ่งเรืองกิจการ อายุ 45 ปี อาชีพเป็นเจ้าของร้านทองแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท กรุงเทพฯ นายเจริญ เป็นบุตรคนโต สืบต่อกิจการร้านทองมาจากพ่อแม่จนสามารถเปิดสาขาให้น้องชายและน้องสาวไปตั้งกิจการร้านเป็นของตัวเองได้ แต่นายเจริญก็เหมือนบุคคลทั่วไปที่ยังเต็มไปด้วยกิเลส และที่สำคัญกว่านั้น คือความไม่รู้จักพอเพียง
เรื่องราวเริ่มต้นในวันหนึ่ง มีลูกค้าหญิงวัยกลางคนนางหนึ่งเข้ามาทำการเสนอแลกเปลี่ยนสร้อยคอทองคำน้ำหนักหนึ่งสลึงไปเป็นหนึ่งบาท ระหว่างนั้นก็บอกเล่าถึงชีวิตตัวเองที่เคยเป็นแม่ค้าหาบเร่มาก่อนจะร่ำรวย เมื่อได้บูชาองค์พระพิฆเนศเนื้อทองที่ตนได้บูชามาจากสำนักสงฆ์ในป่าแห่งหนึ่งแถบจังหวัดภาคกลาง ก่อนจะหยิบรูปหล่อจำลองของพระพิฆเนศขนาดหนึ่งฝ่ามือจากกระเป๋าถือให้นายเจริญดู พร้อมกับเล่าว่าเดิมนั้น ตนไม่เชื่อว่าการบูชาพระพิฆเนศจะช่วยด้านเงินทองได้อย่างไร แต่คนที่นำมาเสนอให้นางบูชา คือญาติสนิท เมื่อเป็นญาติพี่น้องกัน นางจึงคิดว่าคงไม่หลอกลวง
“แต่อิฉันก็คิดบูชาที่ราคาองค์ละห้าหมื่นบาท”
หญิงวัยกลางคนบอก ก่อนจะเล่าต่อว่าดีที่ญาติให้ผ่อนได้ พร้อมกับบอกว่าหากเชื่อและทำตาม นางก็จะได้ลาภในไม่ช้า เงินห้าหมื่นที่ลงทุนไปก็จะได้เป็นห้าแสนในที่สุด
“แต่ดิฉันก็ไม่เชื่อหรอกค่ะ จนกระทั่งองค์ท่านมาเข้าฝัน อิฉันก็เอามาตีเป็นเลข แล้วก็ถูกหวยได้มาห้าแสนจริงๆ ก็เลยคิดจะมาเปลี่ยนสร้อยจากสลึงมาเป็นหนึ่งบาทนี่แหละค่ะ”
นางเล่าต่ออย่างออกรสชาติ จนนายเจริญนึกสนใจขึ้นมา จึงถามรายละเอียดในการเช่าองค์พระพิฆเนศว่าสำนักสงฆ์นั้นเดินทางไปยังไง หญิงวัยกลางคนก็เอ่ยตอบว่าจำไม่ได้ และนางก็ลืมเบอร์ของญาติไปแล้ว
“ตามประสาคนแก่นั่นแหละค่า แต่เอายังงี้ไหมเฮีย อิฉันจะให้องค์พระแลกกับทองหนึ่งบาท เท่ากับเฮียเสียค่าบูชาแค่ทองหนึ่งเส้นเท่านั้น แต่แลกกับการได้เงินแสนในอนาคตเชียวนะ แถมเฮียไม่ต้องเสียเวลา เสียค่ารถไปที่สำนักสงฆ์เองด้วย”
พอนายเจริญได้ฟังเช่นนั้น ก็เริ่มคิดคำนวณในใจ เมื่อหักลบค่ากำเหน็จจากทองหนึ่งสลึง และเงินแสนที่ควรจะได้ รวมไปถึงค่าเสียเวลาที่นายเจริญมองว่านั่นเป็นต้นทุนที่แพงที่สุด
การตกลงแลกเปลี่ยนระหว่างทองแท้น้ำหนักหนึ่งบาทกับองค์พระพิฆเนศ และทองน้ำหนักหนึ่งสลึง จึงจบลงในเวลาเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง
ถึงตรงนี้ คุณผู้อ่านคงพอจะเดาได้ใช่ไหมว่าเรื่องจะดำเนินต่อไปยังไง
เมื่อหญิงวัยกลางคนออกไปจากร้านแล้ว นายเจริญก็ตั้งใจจะนำองค์พระขึ้นหิ้ง แล้วกราบไหว้บูชาโดยเชื่อว่าองค์ท่านจะมาเข้าฝัน และเชื่อว่ารางวัลใหญ่จะต้องมาถึงแน่นอนในวันที่ 16 ที่ใกล้จะมาถึง
ทว่า!
จะด้วยโชคช่วยหรือความบังเอิญก็สุดรู้ได้ ขณะที่นายเจริญกำลังนำองค์พระพิฆเนศขึ้นวางบนหิ้งอยู่นั้น เกิดพลัดหล่นจากมือ องค์พระที่ควรทำจากทองคำ แตกกระจายเผยให้เห็นเนื้อในที่ทำจากปูนปลาสเตอร์ธรรมดานี่เอง
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อรู้ว่าโดนหลอกเข้าให้แล้ว นายเจริญก็รีบนำเอาทองหนึ่งสลึงที่ 18 มงกุฎมาแลกไปตรวจสอบทันที ผลที่ได้คือเป็นเพียงทอง 18 K ซึ่งมีราคาแค่หลักร้อยเท่านั้น !
เรื่องราวของนายเจริญบอกให้รู้ว่า แม้แต่เจ้าของร้านทองยังถูกหลอกด้วยทองปลอม ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในการจำแนกทองจริงและทองปลอมมากที่สุด
เหตุผลเดียวที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อคนเรามีศรัทธางมงายในเรื่องอะไรก็ตาม ดวงตาของเรามักมืดบอด จากดวงตาที่ควรจะเป็นเห็นธรรม (ความจริง) กลับเห็นเพียงแต่ความโลภ
เช่นนี้แล้ว เมื่อคนเรายังคงงมงายในความเชื่อ และหวังรวยทางลัดง่ายๆ อยู่ จึงเป็นธรรมดาที่จะมีคนเช่นนายเจริญอยู่ร่ำไป ตราบเท่าที่ยังมีคนซื้อความงมงายจากศรัทธา ตราบนั้นยังมีคนขายอยู่นั่นเอง
ดังนั้น ด้วยหัวใจที่พอพียงและสติปัญญาเท่านั้น ที่เราจะหยุดวงจรหากินบนความหลอกหลวง
เมื่อไม่มีคนซื้อ ย่อมไม่มีคนขาย ปราบดั่งมารพ่ายแพ้ภัยตนเองไปในที่สุด.