ไฟมอดต้องจุดใหม่ : กาสร วงศ์ชมพู
สัปดาห์ที่ผ่านมา น้องข้าราชการใหม่คนหนึ่งเดินมาหา เอ่ยถามด้วยน้ำเสียงท้อแท้ว่า
“ทำยังไง จะไม่หมดไฟคะพี่”
ฉันอึ้งไปสามวินาที คิดในใจว่า ทำไมหนอ เด็กจบใหม่เพิ่งทำงานไม่กี่เดือน ถึงเอ่ยประโยคเช่นนี้ขึ้นมา สิ่งที่เขาเผชิญคือสถานการณ์แบบไหน อะไรผลักให้เขาต้องอยู่ในภาวะท้อแท้ในการทำงาน
ฉันตอบเขาไป ขณะที่ในใจคิดถึงปีแรกของการรับราชการเมื่อยี่สิบปีก่อน คนที่กระตือรือร้น ทำงานด้วยความตั้งอกตั้งใจ จดจำคำสอนของพี่ๆ ข้าราชการรุ่นป้า
“ก็แค่ทำทุกอย่างเต็มที่ มองเห็นว่าสิ่งที่เราทำสร้างประโยชน์ให้ใครบ้าง แค่เราภูมิใจกับงานที่ทำก็มีความสุขแล้วนะ” ฉันตอบ
“เหรอคะ แต่หนูไม่มีโอกาสได้ทำอะไรเลย ไม่ใช่ว่าไม่อยากทำนะคะ แต่เสนออะไรก็ติดไปหมด ไม่มีใครเห็นด้วย…” เสียงนั้นอ่อยลงอีก
ฉันถอนใจนึกสงสารน้อง ภาพเก่าๆ สมัยรับราชการใหม่ๆ ยังแจ่มชัด มันเต็มไปด้วยความประทับใจในรุ่นพี่ที่คอยสอนงาน สอนทุกเรื่องไม่เว้นแม้แต่มารยาท ที่จำได้ดีคือ การไหว้ขอบคุณ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานมาก รุ่นพี่คนนั้นก็ยังสอน นั่นทำให้ฉันจดจำมาจนถึงทุกวันนี้
ปีนี้ หน่วยราชการที่ฉันอยู่ ประสบปัญหาการโอนย้ายออกของข้าราชการจำนวนมาก ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลที่รัฐส่งเสียค่าเล่าเรียนในต่างประเทศเป็นแสนเป็นล้านบาท หวังให้จบกลับมารับราชการในหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง สุดท้าย พวกเขาจะทนอยู่จนทุนหมดแล้วลาออก มีบางคน ไม่รอ เลือกลาออกโดยยอมชดใช้ทุน (แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลต้องการ ไม่มีใครอยากได้เงินคืนหรอก รัฐต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานต่างหาก)
แล้วอะไรเล่าที่ทำให้กลายเป็นเช่นนี้ ?
สองสิ่งที่ฉันเฝ้าสังเกตและทบทวนถึงเรื่องนี้ คือ
เรื่องแรก การมีพี่เลี้ยงคอยสอนงาน เป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบราชการที่แสนยุ่งยากซับซ้อน ไม่มีเด็กจบใหม่ที่ไหนจะเข้าใจมันได้หรอก หากไม่มีรุ่นพี่ รุ่นแม่ รุ่นป้า คอยชี้แนะ นับวัน ระยะห่างระหว่างวัยก็มากขึ้นทุกที นอกจากการเขียนบันทึกข้อความซึ่งมีการอบรมอยู่บ้าง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ การชี้แนะวิธีการแก้ไขปัญหาต่างหาก พวกเขาล้วนอ่อนประสบการณ์ ไม่เคยต้องเผชิญปัญหาจากการทำงาน ยิ่งต้องรับผิดชอบโครงการทั้งที่เพิ่งรับราชการปีแรก ยิ่งต้องสอนอย่างใกล้ชิดให้เขาเกิดความมั่นใจ ทำเรื่องง่ายก่อน ค่อยทำเรื่องยาก ความมั่นใจจะมีมากขึ้นตามจำนวนวันเดือนปีที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ การให้โอกาสในการทำงาน นี่เป็นเรื่องตรงข้ามกับเรื่องแรก แน่นอน แม้ว่าเราจะคอยสอน คอยกำกับดูแลใกล้ชิด แต่ในการทำงานจริง พวกเขาย่อมต้องการแสดงความคิดเห็น ต้องการออกแบบโครงการหรือกิจกรรมของตนเอง แน่นอนว่า หากมันสำเร็จ จะนำความภาคภูมิใจอย่างยิ่งมาสู่พวกเขา พร้อมกันนั้นก็คือ ความมั่นใจในการทำงานที่ยากขึ้น ซับซ้อนขึ้น นั่นจะทำให้พวกเขาเก่งขึ้น
น้องคนนี้ก็เช่นกัน เขามีความคิดอยากทำงาน แต่ถ้าผู้ใหญ่ไม่ให้โอกาสเขาทำ ก็เท่ากับไม่ไว้ใจ น้องก็ท้อแท้ พาลไม่อยากทำงานเอาดื้อๆ คิดแล้วเศร้า
แต่สิ่งที่ฉันตอบน้องไปก็คือ
“น้องต้องไม่ท้อนะ ต้องพยายามเสนองานต่อไป ถ้าเขาไว้ใจ เห็นเราทำได้ เขาจะให้เราทำสิ่งที่เราอยากทำเอง ตอนนี้ก็ทำตามสั่งไปก่อน เวลาเสนออะไร ก็ไปผ่านรุ่นพี่ ให้เขาช่วยพูดกับหัวหน้าให้ ดีมั้ย”
น้องพยักหน้าหงึกๆ ทำท่าว่าเข้าใจ
ข้าราชการเหล่านี้ ต่อไป หากไม่มีการพัฒนา ไม่เปิดโอกาสในการคิดสร้างสรรค์งานของตัวเอง พวกเขาจะกลายเป็นเดดวู๊ด (Deadwood) ไม่ต่างอะไรกับไม้ตายซาก อยู่ไปวันๆ ไม่ทำงาน รังแต่จะเป็นภาระของรัฐ ไล่ออกก็ยาก แต่เงินเดือนต้องจ่ายครบ
เรื่องนี้ แม้ไม่ใช่การโกงโดยตรง แต่เป็นบ่อเกิดของการโกงอีกรูปแบบหนึ่ง