สัมภาษณ์อนุสรณ์ ศรีคำขวัญ

“แบม แบม โมเดล” ปณิดา ยศปัญญา แบบอย่างของคุณธรรม

“การกระทำของน้องแบมนั้น ถือเป็นต้นแบบขอนแก่นโมเดล ที่ทำดีและทำถูกต้อง”
– นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น

น.ส.ปณิดา ยศปัญญา หรือ แบม อดีตนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล้าลุกขึ้นมาร้องเรียนการทุจริตกรณีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ และผู้ป่วยโรคเอดส์ ที่มีมูลค่าความเสียหายต่อรัฐกว่า 6.9 ล้านบาท

จนเกิดแรงสั่นสะเทือนและตื่นตัว ไม่นิ่งเฉยกับการทุจริตไปทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน

การร้องเรียนพฤติกรรมโกงเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ฯ ในครั้งนั้นตกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ ไม่เพียงศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่นที่ถูกชำระตรวจสอบ เหตุการณ์นี้กลายเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสนใจ สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ตรวจสอบการทุจริตศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทั่วประเทศ

ถือเป็นการเปิดโปงการทุจริตระดับประเทศ จากนักศึกษาฝึกงานเพียงคนเดียว ไม่ให้ประธานหอการค้า จ.ขอนแก่น ยกเป็น ‘ขอนแก่นโมเดล’ ได้อย่างไร

ปัจจุบันแบมสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ควบคู่ไปกับการรับราชการตำแหน่งนักวิชาการยุติธรรมที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขต 4 (จ.ขอนแก่น) นอกจากลงพื้นที่ป้องปรามการทุจริตในภาครัฐแล้ว ยังทำหน้าที่วิทยากรต่อต้านการโกงผ่านประสบการณ์ของตัวเองอีกด้วย

ทำไมจึงเลือกฝึกงานกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง
หนูอยากทำงานกับศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้วค่ะ คิดเลยว่าหากจบปุ๊บจะมาสมัครที่นี่ก่อน จะเป็นจ้างเหมาก่อนก็ได้ หรือเป็นพนักงานราชการก็ได้ แล้วถ้ามีสอบก็จะสอบค่ะ เพราะจะได้ลงพื้นที่และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสโดยตรง จึงเลือกฝึกงานที่นี่…

แล้วพอเข้าไปฝึกงานจริงๆ เป็นอย่างไรบ้าง
วันแรกที่เข้าไปฝึกงาน ช่วงเช้าเป็นปฐมนิเทศ ตอนบ่าย ผอ. บอกว่าให้ลงพื้นที่ ก็ดีใจมาก ไปๆมาๆ กลับพาไปทำเอกสารซึ่งกองเต็มบ้าน จนหาที่เดินแทบไม่ได้เลย

ทำเอกสารปกติทั่วไปนี่เหรอ
ช่วงแรกเขาให้เย็บมุมเอกสารก่อนค่ะ แล้วจัดเป็นชุดๆ ทำจนถึง 6 โมงเย็น ซึ่งก็เลยเวลาราชการไปแล้ว

แล้วเริ่มผิดปกติตอนไหน
พอมาวันที่สอง เขาเริ่มให้กรอกเอกสารตามสำเนาบัตรประชาชน ทีนี้มันจะมีพวกสถานะโสด สมรส แล้วก็สถานภาพทางการเงิน สภาพที่อยู่อาศัย ความต้องการ รายได้ต่อเดือน วุฒิการศึกษา ซึ่งเขาจะให้กรอกด้วยโดยไม่มีข้อมูลเลย หนูจึงถามพี่ๆ ที่มาทำเอกสารว่า ต้องทำยังไง เขาก็บอกว่าโสดกับสมรส ให้ดูว่าถ้าคำนำหน้าเป็นนาง ก็ใส่ว่าสมรส ถ้าเป็นนางสาวก็ให้ติ๊กโสด หนูเบถามกลับว่า ถ้าเป็นผู้ชายล่ะ เขาบอกว่าผู้ชายให้ดูตามอายุ ส่วนสภาพบ้านเขากำหนดไว้เลยว่าจะต้องกรอกว่าเป็นบ้านไม้ หรือบ้านเพิงสังกะสีเท่านั้น

ระหว่างที่มือระวิงอยู่กับการกรอกเอกสารในพื้นที่บ้าน ผู้อำนวยการ แบมเริ่มเอะใจว่าการกระทำนี้บริสุทธิ์หรือไม่ เพราะตัวเองไม่ได้เข้าไปฝึกงานที่สำนักงานเลย อีกทั้งเอกสารที่กรอกก็เป็นแบบฟอร์มเปล่า กุขึ้นมาเองหมด ทั้งข้อมูลพื้นฐานตัวบุคคล และลายเซ็นรับเงิน แต่ยังไม่กล้าฟันธงแต่อย่างใด

ตอนไหนที่รู้สึกว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้องแน่ๆ
หนึ่งสัปดาห์ที่หนูนั่งเขียนอยู่อย่างนั้น จนเริ่มไม่แน่ใจ จึงแอบเข้าไปในสำนักงาน ไปถามพี่ที่เป็นเจ้าหน้าที่ เขากลับถามกลับว่า “อ้าว นึกว่าไม่ฝึกงานแล้ว” นึกว่าหนูออกไปแล้ว ก็ตกใจสิคะ เพราะหนูยังไม่ออก ก็เลยเล่าให้เขาฟัง หลังจากนั้นหนูแอบถ่ายรูปเอกสารส่งไลน์ให้ดู เขาบอกว่าทำไมทำแบบนี้ล่ะ หนูถามกลับว่าทำอะไรคะ เขาก็เลยบอกว่า “นี่มันเป็นการปลอมแปลงเอกสาร”

กลายเป็นจุดเริ่มต้นการเปิดโปงพฤติกรรม เพราะหลังจากนั้นแบมได้ถ่ายภาพการปลอมแปลงเอกสารเพื่อใช้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมี ณัฏกานต์ หมื่นพล ลูกจ้างศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่นให้การสนับสนุน แม้เก็บรวบรวมหลักฐานไว้พร้อม และมั่นใจว่าสิ่งที่ ผอ. สั่งให้ทำคือการปลอมแปลงเอกสารและทุจริต แต่แบมยังไม่ยื่นร้องเรียนไปที่ใด เพราะเธอต้องการคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการคอรัปชั่นจริงๆ ก่อน จะได้ไม่เป็นการกล่าวหา เพราะเธอเองเป็นเพียงนักศึกษาฝึกงานคนหนึ่งเท่านั้น

พอแน่ใจว่ากำลังถูกหลอกให้ทำอะไรบางอย่าง ตอนนั้นเราทำยังไง
วันหนึ่งผู้ตรวจจากกรมเข้ามาตรวจค่ะ จึงมีความคิดว่าต้องไปคุยกับเขา เพื่อถามว่าสิ่งที่หนูทำมันผิดหรือเปล่า จึงขอนัดเจอนอกรอบ แล้วเอาเอกสารพร้อมกับปริ้นรูปภาพทุกอย่างไปให้เขาดู ซึ่งเขาบอกหนูว่ามันเป็นการปลอมแปลงเอกสารจริงๆ แต่เขาไม่ได้มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน แนะนำให้หนูไป ป.ป.ช. จากนั้นจึงเป็นข่าวใหญ่ในที่สุด

มองในมุมของนักศึกษาฝึกงาน คงยากที่จะกล้าลุกขึ้นร้องเรียนผู้มีอำนาจระดับ ผอ. แบม เอง ยอมรับว่า เครียด คิดหนัก แต่ในเมื่อเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นตรงหน้าแล้วจะนิ่งเฉยก็ละอายใจ

ทำไมเราถึงตัดสินใจทำแบบนี้ มันเป็นเพราะอะไร
สิ่งที่ทำลงไปเพราะเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ทางผู้ใหญ่สั่งให้เราทำการทุจริต เรารู้สึกละอายแก่ใจ ที่เราเรียนสาขาพัฒนาชุมชนมาด้านนี้ แล้วต้องไปทำเอกสารที่ไม่ยุติธรรมกับชาวบ้าน รู้สึกรับไม่ได้กับเรื่องแบบนี้จึงต้องลุกขึ้นมาร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้มีการตรวจสอบ

ไม่เพียงความกล้าหาญในด้านที่เป็นไม้ซีกงัดไม้ซุง แต่เมื่อตัดสินใจไปแล้ว แบมยังต้องเก็บรวบรวมทุกความกล้า และกำลังใจทั้งหมดมาใช้ในการฝ่าฟันอุปสรรคของการเป็นคนดีอีกด้วย

ว่าถึงขนาดเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้
ช่วงแรกที่ร้องเรียน ทั้งเดือนหนูเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เลย เกือบไม่จบ เพราะข้างในแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เชื่อและไม่เชื่อเรื่องที่หนูร้องเรียน ตรงนี้ต้องขอขอบคุณอาจารย์ ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ที่ช่วยเหลือและให้กำลังใจมาตลอด

สาเหตุที่เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้นั้น ใช่ว่ามีป้ายห้ามเข้า แต่เพราะมีฝ่ายอาจารย์ที่มองว่าแบมกุข่าวขึ้นมาเอง มีทั้งอาจารย์ที่คอยไกล่เกลี่ยให้ ผอ. ศูนย์ และให้แบมไปขอโทษ

แล้วทางอีกฝ่ายเขามีท่าทียังไง
จะมาไกล่เกลี่ยให้ยกเลิกการร้องเรียน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ที่หนูจะทำอย่างนั้น เพราะตัดสินใจไปแล้ว ขนาดมีหนังสือจาก ป.ป.ท. เข้ามาที่มหาวิทยาลัย อาจารย์บางท่านยังไม่เชื่อเลยค่ะ ว่าสิ่งที่หนูร้องเรียนเป็นเรื่องจริง

หากติดตามข่าวการเปิดโปงการทุจริตเงินคนไร้ที่พึ่งอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าเมื่อแบมยื่นเรื่องร้องเรียนแล้ว กลับเป็นฝ่ายถูกเรียกไปสอบสวนร่วมกับครูภาคสนาม (ข้าราชการที่เป็นพี่เลี้ยงในการฝึกงาน) แล้วให้เธอเล่าความจริง แต่ตอนนั้นแบมไม่กล้าเล่า เพราะอยู่ต่อหน้าคนที่เธอกำลังร้องเรียน อีกทั้งเป็นเด็กท่ามกลางผู้ใหญ่ จึงเป็นที่มาของการถูกกล่าวหาว่าเป็นเด็กเลี้ยงแกะ และถูกทุบหลัง อย่างที่เป็นข่าว

ทั้งที่พยายามจะช่วยคนไร้ที่พึ่งที่ถูกเบียดเบียน แต่กลับเป็นฝ่ายถูกทำร้ายเสียเอง ตอนนั้นเรารู้สึกยังไงบ้าง
ร้องให้เลยค่ะวันนั้น ทำไมอาจารย์ถึงไม่เชื่อหนู รู้สึกกดดันมาก กว่าจะผ่านมาถึงวันนี้ได้ บางครั้งคิดเหมือนกันว่าจะอยู่ไปทำไม ไม่มีใครเชื่อเลย ก็เลยโทรศัพท์ไปหาพ่อกับแม่ ท่านก็บอกว่าให้รีบเรียนให้จบ จะได้ออกจากวงจรนี้ หนูก็โอเค เก็บแรงกดดันไว้ จนเรียนจบปุ๊บก๋็คือโล่งเลย

ตอนนี้เลยกลายเป็นโมเดลต้านโกงไปแล้ว บางคนก็เรียกเป็นไอดอลเลย
ก็ไม่ได้อยากเป็นไอดอลหรอกค่ะ อยากเป็นคนธรรมดามากกว่า หนูไม่เคยคิดเลยค่ะว่าสักวันจะเป็นต้นแบบหรือเป็นไอดอล แต่รู้สึกยินดีที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม เพื่อที่จะทำให้สังคมตระหนักรู้ถึงการทุจริตว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วมันทำให้ประเทศไม่พัฒนา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี

การได้เข้ามาทำงานใน ปปท. ซึ่งเป็นหน่วยงานปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ก็เกิดขึ้นโดยสายโทรศัพท์จากหน้าห้องของท่านรองนายกฯ อยากพูดอะไรกับท่านบ้าง
ส่วนตัวหนูขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ที่มอบโอกาสให้เข้ามาทำงานใน ป.ป.ท. ทำงานที่นี่ถือว่าเป็นการทำงานที่ท้าทาย แล้วก็ยากในระดับหนึ่ง และขอปฏิญาณตนเลยว่าจะทำงานเพื่อประชาชนตลอดไปค่ะ

อยากให้เชิญชวนประชาชนที่พบเจอเรื่องราวเกี่ยวกับการทุจริตในภาครัฐ เข้ามาใช้บริการของ ปปท. เพราะว่าคนส่วนมากอาจจะคิดว่าไกลตัวเกินไป
ป.ป.ท. ของเรามีหน่วยงานป้องกันและป้องปรามการทุจริต ถ้ามีข้อมูลหรือต้องการพิสูจน์ว่าหน่วยงานนั้นๆ ทุจริตจริงหรือไม่ หรือมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการทุจริตหรือเปล่า สามารถเข้ามาปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้ รับรองว่าปลอดภัย เพราะเรามีกฎหมายคุ้มกันพยาน ตัวหนูเองเป็นคนหนึ่งที่ได้รับการคุ้มกัน ตำรวจมาบ้านทุกวัน

ปัจจุบันการโกงหลายๆ อย่างกลายเป็นเรื่องปกติ พวกเราคนไทยจะทำยังไง เพื่อไม่นิ่งเฉยต่อการโกง
ต้องยึดหลักความถูกต้องค่ะ ให้มองดูตัวเองก่อน ในแต่ละวันทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง แล้วจะแก้ไขความผิดพลาดเหล่านั้นอย่างไร เช่น เราอาจจะเคยติดสินบนเจ้าพนักงาน ขับรถแทรกคันอื่น หรือลอกข้อสอบ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ผิด แต่มักถูกมองว่าใครๆ ก็ทำกัน ถ้าปล่อยไปโดยไม่คิดแก้ไข หรือไม่เตือนตัวเองว่าผิด การโกงก็จะเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราหมั่นแก้ไขตรงนี้ จะพบว่า การโกงเป็นเรื่องแย่ที่สุดสำหรับเรา และเราจะรับไม่ได้เด็ดขาด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *