กองบรรณาธิการสกู้ป

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงกริ้วโปลิศ – “อ้ายโปลิศนั้นไม่มีวิญญาณ” เหตุวางเพลิงพระนคร

ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีเหตุเพลิงไหม้ให้ทรงรำคาญพระราชหฤทัย หากพลิกแฟ้มคดีเพลิงไหม้เหล่านี้อย่างจริงจัง โดยศึกษาผ่านพระราช-หัตถเลขาฉบับต่างๆ จะเห็นว่าเหตุเพลิงไหม้เหล่านี้เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากเจตนาเสียส่วนหนึ่ง และมีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้าร่วมกระบวนการด้วยอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงกริ้วจนเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์กรมโปลิศผ่านพระราชหัตถเลขาเอาไว้หลายฉบับด้วยกัน

เป็นเพราะในยามนั้นได้เกิดมีคนร้ายลอบวางเพลิงโดยทั่วไป โดยอาศัยช่วงจังหวะชุลมุนชุลเก เข้าฉกชิงลักทรัพย์ตามบ้านเรือนที่ถูกเพลิงเผาผลาญ ดังจะเห็นได้จากเนื้อความในพระราชหัตถเลขาหลายฉบับที่กล่าวถึงเหตุเพลิงไหม้อันไม่เป็นปกติ เช่นมีเหตุเพลิงไหม้วัดจักรวรรดิ ราชาวาศ, เพลิงไหม้ที่ตำบลประตูสำราณราษฎร์ตรงวัดสระเกษ, และที่ร้ายกาจที่สุดเห็นจะเป็นการเกิดเพลิงไหม้วัดบวรมงคลถึงสองวันด้วยกัน

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตรัสถึงเรื่องนี้ไว้ในพระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ลงวันที่ 17 มกราคม ร.ศ. 111 ไว้ดังนี้

“เธอเห็นว่าการที่เกิดเพลิงไหม้วัดบวรมงคลติดกัน 2 วันนี้ น่าที่อ้ายคนร้ายจะเอาเพลิงทิ้ง จึงได้สั่งให้เจ้าพนักงานสืบจับคนร้าย และให้คอยระวังเหตุที่จะเกิดเพลิงมาด้วย”

อย่างไรก็ดีการสืบหาเพื่อจับกุมตัวคนร้ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เช่นเดียวกับการพยายามควบคุมเพลิงไหม้ไม่ให้เกิดมีขึ้นอีก ก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน พระองค์ท่านทรงระคายเคืองพระราชหฤทัย ดังมีเนื้อความเป็นเชิงตำหนิติเตียนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในจดหมายหลายฉบับด้วยกัน ดังมีปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 26 มกราคม ร.ศ. 113 ว่า

“ไฟไหม้ถี่เกินปกตินัก ให้คิดป้องกันด้วยอุบายและกำลังสถานใดสถานหนึ่ง หรือป้องกันไม่ไหวอย่างไร ให้บอกมาให้ทราบ”

และอีกสามวันถัดมา ทรงมีพระราชหัตถเลขาอีกฉบับหนึ่งถึงกรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ โดยมีเนื้อความเป็นการตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานไว้ว่า

“นี่จะสิ้นอำนาจสิ้นกำลังที่จะระงับไฟไหม้เสียจริงแล้วหรือ ถึง 3 คืนติดกันมาแล้ว จะคิดอ่านอย่างไร ถ้าไฟไม่หยุดไหม้แล้ว อย่านอนบ้านเลย ให้มานอนคอยประจำออฟฟิศ สำหรับจะได้วิ่งไปดับง่ายๆ กว่าจะซาเรื่องไฟไหม้ จึงค่อยกลับไป”

พระองค์ท่านทรงมีพระราชปรารภเกี่ยวกับเรื่องการเขียนรายงานเพลิงไหม้ที่ดูเหมือนจะล่าช้ากว่าเดิมอยู่สักหน่อย ในพระราชหัตถเลขาจากพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทสู่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 22 พฤษภาคม ร.ศ. 117 ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“ด้วยรายงานเพลิงไหม้ วันที่ 17 พฤษภาคม เพิ่งได้รับเมื่อวานนี้ สังเกตุดูรายงานอาญาไฟเดี๋ยวนี้หมาโหร่เต็มทีแล้ว เรื่องคราวฟ้าผ่าก็นิ่งเสียทีหนึ่ง ด้วยเห็นว่ามันหลายแห่ง ครั้นมาเห็นครั้งนี้ช้าอีก ก็นึกว่าเห็นจะเลยกลายเป็นธรรมเนียม การที่จะทำรายการเหตุการณ์อะไรกราบทูลนั้น คงจะไม่เป็นการสำคัญ”

ในเชิงสถิติก็มีการเก็บจำนวนครั้งของเพลิงไหม้เอาไว้เป็นข้อมูลเช่นกัน ดังปรากฏว่ามีรายงานเพลิงไหม้ประจำปีเพื่อกราบทูลจำนวนครั้งที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ โดยกรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ (เปลี่ยนชั้นจากกรมหมื่นแล้ว) ได้ส่งรายงานไปยังกรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ โดยระบุว่าในปี ร.ศ. 118 มีเหตุเพลิงไหม้น้อยกว่าปีก่อนสองครั้ง เพลิงที่ระงับได้น้อยกว่า 22 ครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรัสถึงเรื่องนี้ผ่านพระราชหัตถเลขาว่า

“ที่ไฟไหม้น้อยลงนั้นดี แต่สังเกตได้อีกอย่างหนึ่งว่า เพลิงทิ้งมากขึ้น ที่ยื่นบัญชีให้ทราบดังนี้เป็นการดีนัก ขออย่าให้จืดเสีย”

ในบางครั้งคนร้ายทิ้งเพลิงก็เผลอเรอหรือทำอะไรโดยเป็นฝ่ายไม่ระมัดระวัง ดังกรณีอำแดงล้อมเข้ากราบทูลเรื่องถูกขว้างบ้านและโยนเชื้อเพลิง สงสัยว่าเป็นพวกที่แพ้ความกันมาในชั้นศาล พระองค์ท่านทรงทราบข่าวเข้าพระเนตรพระกรรณมาบ้าง เมื่อคราวที่จีนฮกโป้ (เข้าใจว่าเป็นคนในครอบครัวเดียวกับอำแดงล้อม) ได้เชิญสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับกรมหมื่นสมมตอมรพันธ์ไปเลี้ยงเพื่อเป็นการทำขวัญเงินตามประเพณี ก็ได้มีคนร้ายขว้างก้อนอิฐเข้ามาในบ้านเช่นกัน

ความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาจากพระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์ ลงวันที่ 31 มกราคม ร.ศ.121

“เพราะฉะนั้น ขอให้เธอกำชับโปลิศตำบลนั้นให้ช่วยระวังป้องกัน และถ้าหากว่าผู้ใดเป็นนายโปลิศแขวงนั้น ได้ไปพบอำแดงล้อมไต่ถามให้รู้เค้าเงื่อนไว้ และแจ้งให้ทราบว่าฉันได้บอกเธอไปขอให้ช่วยพิทักษ์รักษาจะเป็นที่ยินดีของอำแดงล้อม”

ดังได้ทรงกำชับการทำงานของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต่อกรณีอำแดงล้อมนี้เป็นพิเศษ โดยไม่ลืมระบุไว้อย่างชัดเจนในตอนท้ายของจดหมายฉบับเดียวกันว่าพระองค์ได้ทรงพบอำแดงล้อมเมื่อครั้งทำบุญที่วัดเบญจมบพิตร

“การที่รู้จักกับอำแดงล้อมนั้นหาได้รับสินบน”

ครั้นในปี ร.ศ. 125 เหมือนจะเป็นช่วงปีแห่งการเกิดเหตุเพลิงไหม้อย่างหนักและรุนแรง เพราะมีพระราชหัตถเลขาหลายฉบับด้วยกันที่กล่าวถึงเหตุเพลิงไหม้ รวมทั้งเป็นการเปิดเผยเบื้องลึกเบื้องหลังของเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นจากการลอบวางเพลิงมาช้านาน รวมทั้งเงื่อนงำที่อาจเกี่ยวโยงไปถึงอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือที่เรียกทับศัพท์กันในสมัยนั้นว่า ‘โปลิศ’ นับว่าเป็นเรื่องระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทถึงกับพระองค์ท่านต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการทำงานของเจ้าหน้าที่ในยามเกิดเพลิงไหม้ด้วยพระองค์

วันที่ 17 มกราคม ร.ศ.125 เวลา 10 ทุ่มได้เกิดเพลิงไหม้ที่ห้องแถวตำบลตึกแดง ซึ่งหมื่นนคราภิบาลปลัดอำเภอเป็นผู้เช่าอยู่ พันจ่าตรีนายสงได้เข้าทำการดับไฟไหม้ได้ สงสัยว่าเป็นการลอบวางเพลิง เพราะมีกระดาษชุบน้ำมัน
ปิโตรเลียมกำลังไหม้เป็นเชื้อเพลิง มีเนื้อความปรากฏให้แกะรอยในพระราชหัตถเลขาถึงกรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ ฉบับลงวันที่ 19 มกราคม

“เรื่องนี้ปรากฏชัดว่าข้อซึ่งกองตระเวนสืบได้ความว่าไฟไหม้เกิดขึ้นที่ครัวแล้ว ก็เน็อันพอใจว่าไฟไหม้ที่เตาหุงข้าว ความจริงย่อมคาดเห็นได้ว่า ผู้ซึ่งหุงหาอาหารกินย่อมเขม็ดแขม่เชื้อไฟเป็นอันมาก ฟืนเหลือเท่าไรก็ชุบน้ำเก็บไว้ใช้อีกเช่นนี้ โดยมากจะเหลืออยู่ในเตาก็แต่ถ่าน ซึ่งจะกระเด็นพลัดตกไปไหนไม่ได้ ไฟจะเกิดขึ้นในครัวได้ก็แต่ทอดปลาน้ำมันลุก ฤาติดไฟแรงเกินไป เปลวไฟโฉบถูกฝาจากฝากระแชงจึงจะลุกขึ้นได้ ไฟที่ลุกขึ้นในครัวเวลา 8 ทุ่ม 3 ยามนี้ ย่อมจะเปนไฟทิ้งทั้งนั้น จะเดาให้พวกผู้ร้ายทิ้งเพลิงโง่เหลือเกิน จนถึงจะคิดเห็นว่าถ้าจะทิ้งไฟแห่งใด จะเหมาะยิ่งกว่าที่ครัวนั้นไม่มี เพราะที่ครัวย่อมจะรกเลี้ยว มีฟืนแลกระบุงตะกร้าเป็นเชื้อ ทั้งย่อมจะไม่มีคนนอนอยู่ในครัวนั้นเลยเป็นธรรมดานั้น เดาว่ามันโง่เช่นนี้ไม่ได้ ขอให้กรมกองตระเวนจำไว้เปนตัวอย่าง”

เหตุการณ์เพลิงไหม้ยังคงเกิดขึ้นโดยทั่วไป ในพระราชหัตถเลขาฉบับลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ร.ศ.125 ยังกล่าวถึงเพลิงไหม้อันเกิดจากคนร้ายลอบวางเพลิง แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นที่โรงแถวหัวมุมถนนรองเมือง ตำบลหัวลำโพง แต่ดับได้ทันทีเช่นกัน พระองค์ท่านทรงชมเชยว่าเป็นการดีแล้ว แต่ได้ทรงแนะนำวิธีการตัดไฟเสียแต่ต้นลมในการสืบหาคนร้ายไว้ว่า

“เรื่องคนร้ายลอบวางเพลิงนั้น ก็เป็นน่าอัศจรรย์ที่ตรวจจับกันแข็งแร็งถึงเพียงนี้ยังมีลอบทิ้งเพลิงอยู่ได้เสมอ น่าจะมีสมัครพรรคพวกคนร้ายที่เข้ากันอย่างไรอยู่ ขอให้สืบสวนสอดแนมเอาต้นเหตุจำพวกคนร้ายเสียให้ได้ ที่จะคอยจับเวลาทิ้งอย่างเดียวเห็นจะจับไม่ได้ ถ้าเช่นนี้เผลอลงเมื่อไร ก็คงจะเกิดเหตุได้เมื่อนั้น ถ้าเป็นคนหากินเฉพาะตัว ทิ้งไฟไม่สำเร็จเป็นช้านาน ก็จะเบื่อหน่ายที่มันจะมีเข้าหมวดเข้าหมู่อย่างเช่นเขาฤาได้บ้างกระมัง จับต้นเค้าได้สักคนหนึ่งคงจะสาวเอาผู้ร่วมคิดได้ ถ้าจะไปมัวสุ่มจับเอาแต่ในเวลาทิ้งอย่างเดียวไม่เสาะหาต้นเหตุ น่าที่จะไม่สงบลงได้ เมื่อได้ยินคำที่ว่าเช่นนี้ก็คงจะร้องว่ายาก ความยากนั้นก็เห็นอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องที่น่าควรพยายาม”

เข้าใจว่ากรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยยามนั้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองคงเข้มงวดกวดขันอยู่พอสมควร แต่เป็นด้วยคนร้ายชุกชุมและการลอบวางเพลิงในยามวิกาลนั้น เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก ต่างฝ่ายต่างไม่สบายใจอยู่มากทีเดียว จนเมื่อองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จออกทอดพระเนตรเหตุไฟไหม้ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ร.ศ.125 ซึ่งต้องขอเรียกอย่างสั้นว่าเป็นจดหมายฉบับยาวเลยทีเดียว

“เข้าใจว่าไฟไหม้วันนี้ เหตุด้วยเธอลุกขึ้นเต้น ว่าไฟไม่ไหม้แล้ว พ้นเขตตรุษจีนจึงได้พากันมีความประมาท ด้วยคิดว่าพ้นเขตด้วยกันทั้งนั้น”

พระราชหัตถเลขาฉบับนี้เองที่กล่าวถึงข้อเคลือบแคลงในตัวเจ้าหน้าที่พลตระเวนเป็นครั้งแรก

“ที่เป็นสำคัญนั้น เรื่องโปลิศที่ว่าออกจากราชการไปได้เดือนหนึ่ง ทิ้งไฟด้วยเสื้อโปลิศและด้วยกระดาษฟอร์มของโปลิศ คนที่ออกไปเช่นนี้จะออกไปเมื่อใด หรือคนร้ายเข้ามาเป็นโปลิศเมื่อใดก็ไม่มีใครรู้ ตามความจริงนั้น ฉันได้ทราบมาจากปากผู้ที่ควรเชื่อ ไม่ใช่ทหารเรือ ไม่ใช่ทหารบก ไม่ใช่พระองค์สาย ซึ่งเธอจะหาว่าหาเหตุค่อนแคะ ได้ทราบจากคนซื่อเงียบๆ ที่เที่ยวเตร่ เคยไปดับไฟ ได้เห็นและได้ยินคนว่าโปลิศประสมมือแย่งของ รู้และพูดกันทั่วทั้งเมือง เมื่อมีเหตุปรากฏเช่นนี้ จึงกระทบใจมาก”

พระองค์ท่านยังทรงวิพากษ์ว่านายกองโปลิศมักมี ‘ความเห็นวิปริตวิปลาส’ ชอบแก้ตัวแก้ต่าง กลัวว่าจะเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงของกรมกองโปลิศเองทั้งยังทรงเห็นว่าตำรวจมีเจ้านายน้อยคนกว่าทหาร จึงอาจทำทุจริตทุราจารได้ทุกเมื่อที่เจ้านายไม่เห็น ซ้ำยังอาจคิดว่าการที่นายจะลงโทษตนก็เหมือนเป็นการประจานกรม
ตำรวจของตัวเอง ทรงเตือนสติว่าหากยังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป “คนมันจะชั่วอยู่แล้ว มันก็ยิ่งชั่วหนักไป”

ด้วยทรงเสด็จออกทอดพระเนตรเหตุการณ์เพลิงไหม้ด้วยพระองค์เอง ทำให้ทรงสามารถเขียนบรรยายเหตุการณ์ได้อย่างเห็นภาพ เหมือนผู้อ่านพระราชหัตถเลขาได้เข้าเฝ้าร่วมเหตุการณ์กับพระองค์ท่านด้วย

“อาการวิบัติของโปลิศที่ได้เห็นในวันนี้ มันเหมือนไอ้ที่เขาเล่นละครล้อจริงๆ แรกฉันไปถึงไม่มีโปลิศเลย สักครู่หนึ่งนานๆ จึงได้มีมาคนหนึ่ง ยืนเก้กังอยู่กลางถนนหลังโก่งๆ ฉันได้สั่งให้ทหารมหาดเล็กตำรวจต้อนคนซึ่งเข้าไปยืนอยู่เปล่าๆ ไม่ได้ทำอะไรให้หลีกคนขนของ แต่สั่งกันกว่า 100 คำ ใครๆ ก็เข้าใจ แต่อ้ายโปลิศนั้นไม่มีวิญญาณ สุดแต่ใครแบกของหาบของออกมา ไปเที่ยวไล่ทุบไล่ตีผลัก ใช่ว่าจะเจ็บปวดอันใด ดูมันไม่มีแรงกี่มากน้อย และก็ไม่เห็นใครกลัวเกรงว่ากระไร อ้ายเจ๊กมันก็เดินโซซัดโซเซจนอดหัวเราะไม่ใคร่จะได้ ส่วนไอ้คนที่ยืนล้อมตัวอยู่เปล่าออกเป็นกอง ไม่ยักห้ามยักไล่อะไร คอยแต่รับงานคนขนของ ตรงกันข้ามกับที่สั่งให้ทำจนตลอดเวลาที่ยืนอยู่นั้น ภายหลังจึงมีฝรั่งนายโปลิศพาโปลิศแขกเดินผ่านขึ้นไป เห็นจะเป็นกองชักมาให้รักษาที่ฉันไปอยู่นั้น (กองกำลังตำรวจที่เข้าอารักขาพระองค์ท่าน) แต่เดินเลยขึ้นไปข้างหน้าสักครู่หนึ่ง ฉันจึงได้ขยับรถขึ้นไปสั่งให้เปิดคนออก โปลิศพวกนั้นจึงได้ขับไล่คนโดยไม่ปรานีปราศัย ยัดกันคลักๆ แต่ดีที่ทุบกันบ้างห้ามหยุด นี่แหละกิริยาโปลิศมันไม่เป็นที่น่าให้คนไว้เนื้อเชื่อใจ จึงเป็นที่กินแหนงสงสัยของคนเป็นอันมาก ไฟไหม้ครั้งนี้ขอให้ไต่สวนให้ดีๆ มีคำกล่าวว่าเป็นไฟทิ้ง วิ่งไล่ตามจับกันไป แต่คำหรือจะเอาแน่ไม่ได้ ข้อสำคัญนั้นให้ตรวจโปลิศเรื่องแย่งของ และไอ้เรื่องโปลิศที่ต้องสงสัยว่าทิ้งไฟ ถ้าอย่าให้รอดไปได้นั่นแลดี หาไม่ถ้าเห็นได้ข่าวที่ลาออกจากโปลิศแล้วไปเป็นผู้ทิ้งไฟ โปลิศพวกกันเองเป็นผู้จับ เห็นจะดับไม่ไหว แล้วจะพากันฉิบหายเสียทั้งบ้านทั้งเมือง ถึงจะจับตัวเอาแน่จริงๆ ไม่ได้ ชื่อโปลิศก็จะฟุ้งเฟื่องไป ความไม่วางใจมากขึ้น การภายหน้าจะรักษายาก”

พระราชหัตถเลขาอีกฉบับลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ร.ศ.125 ตอกย้ำเรื่องเพลิงไหม้ที่เกี่ยวข้องไปถึงกองโปลิศในขณะนั้นอีกครั้งหนึ่ง

“ได้รับหนังสือมีมาที่กรมขุนสมมตอมรพันธ์ที่ 287/16291 ลงวันที่ 13 เดือนนี้เป็นรายงานกองตระเวน
ไต่สวนเรื่องเพลิงต่อจากวันที่ 5 เดือนนี้ ว่ามีผู้เก็บชุดเพลิงซึ่งคนร้ายทิ้งที่โรงแถวใกล้ตรอกสิบเบี้ย ถนนเยาวราชได้ ชุดนั้นทำด้วยกระดาษฟอร์มบัญชีของหายของกองตระเวนและเสื้อชั้นในพลตระเวน สงสัยนายผลัดพลตระเวนม้า ซึ่งได้ลาออกไปเดือนหนึ่งแล้ว เช่าห้องอยู่ใกล้ที่คนร้ายวางเพลิง มีกระดาษฟอร์มที่เหลือใช้อยู่ในห้องว่าจะเป็นคนร้ายทิ้งเพลิง ได้จับตัวนายผลัดส่งศาลโปริสภาไต่สวนแล้วนั้นทราบแล้ว

ข้อที่มีกระดาษฟอร์มและเครื่องโปลิศ ทั้งโปลิศซึ่งออกจากหน้าที่ใหม่เพียงเดือนเศษเช่นนี้ไม่สู้ดี อย่างเลวที่สุดก็ของหลวงตกเรี่ยเสียหาย โปลิศเป็นคนที่เข้าง่ายออกง่าย ขอให้ระวังให้มาก”

พระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายที่จะนำมาถ่ายทอด เป็นฉบับที่ลงพระนาม ‘วชิราวุธ’ ออกจากที่ประชุมพระที่นั่งอภิเษกดุสิต ลงวันที่ 8 เมษายน ร.ศ.126 มีเนื้อความกล่าวถึงการลงโทษผู้ร้ายวางเพลิงชาวจีนที่เรียกกันอย่างง่ายในพระราชหัตถเลขาว่า ‘จีนชุน’ ส่งถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์

“เรื่องเจ้าพนักงานจับตัวจีนชุน ผู้ร้ายจุดเพลิงเผาตึกแถวถนนกลันตัน ได้ศาลไต่สวนได้พิรุธแล้วจึงส่งคดีให้กรมอัยการต่อไป กับให้สืบหาตัวจีนที่ว่าอยู่กับจีนชุนต่อไป เมื่อได้ความมีหลักฐานว่าสมรู้ร่วมคิดกัน ก็จะได้ฟ้องกันต่อไปนั้น ทราบแล้ว เรื่องนี้ฟังดูคำพยานตามที่มาในรายงานนี้ดูก็พอเป็นหลักฐานอยู่แล้ว”

จากพระราชหัตถเลขาหลายฉบับที่กล่าวถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้ นับตั้งแต่เหตุการณ์เล็กๆ แต่กลับบานปลายจนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตที่โยงใยเกี่ยวข้องไปถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และการพยายามปิดบังข่าวสารในทางลบของหน่วยงานของตน โดยกล่าวอ้างเอาเองว่าจะเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงของกรมกองที่ตัวเองเป็นผู้รับผิดชอบ ออกจะเป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยในปัจจุบันคุ้นหูคุ้นตากันดีอยู่ ดังคล้ายว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลาเกือบหนึ่งร้อยปีที่แล้วด้วยซ้ำ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *