กองบรรณาธิการเหยื่อโกง

“สูนแฮงเด้อ” หลอกคนแก่ซื้อสินค้าเงินผ่อน แพงเกินเท่าตัว – งาม !

สำหรับคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่บ้านตามลำพัง ลูกหลานนอกจากต้องเตือนเรื่องการย่าง การก้าว การเข้าห้องน้ำให้ระมัดระวังแล้ว ต้องไม่ลืมเตือนเรื่องมิจฉาชีพด้วยนะ ยิ่งแต่งตัวดี พูดจาหวาน ยิ่งต้องระวัง อย่าง คุณฝน ผู้ใช้เฟซบุ๊ค จากเมืองขอนแก่นนี่ปะไร กลับจากทำงานมามืดๆ ค่ำๆ 2 ทุ่ม พบว่า พ่อแม่ถูกหลอกให้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าไปแล้ว ถึง 12,000 บาท ทั้งๆ ที่ราคาจริงสินค้าต่ำกว่านั้นครึ่งหนึ่ง

เช้าอีกวัน ‘ฝน’ รีบโทรศัพท์ไปยังบริษัทที่ส่งตัวแทนมาลวงขายสินค้า เจรจาขอคืนสินค้า และรับเงินมัดจำงวดแรกจำนวน 1,200 บาทคืน แต่ผลปรากฏว่า

“คืนไม่ได้ เพราะเซ็นสัญญาซื้อขายแล้ว”

ฝน บอกกับทีมบรรณาธิการนิตยสารโกงว่า พอเขาไม่ยอมรับคืน ตัวเธอเองก็เกิดอารมณ์ฉุนเฉียวโต้เถียงกันไม่น้อยทีเดียว แต่พอตั้งสติได้จึงหาวิธีแก้ไข และโพสต์เตือนคนอื่นๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย เนื้อความว่า

“ใครเจอแบบนี้มั้ง รถเร่ขายของผ่อนตามหมู่บ้านพวกสินค้า จะมีเตาไฟฟ้า เตาแก็ส เครื่องล้างรถ แล้วก็เครื่องใช้ในครัว ส่วนมากจะเลือกขายให้กับคนสูงอายุ ล่าสุดเมื่อวาน (18 ธค. 61) แม่เอาเครื่องล้างรถ ซึ่งราคาที่เช็คไม่น่าเกิน 2,500 บาท เขาบอกให้ผ่อน 10 เดือน เดือนละ 800 ซึ่งมันเป็นเงิน 8,000 บาท แพงมาก แล้วก็เตาไฟฟ้า ให้ผ่อน 10 เดือน เดือนละ 400 เป็นเงิน 4,000 รวมแล้วของ 2 อย่างราคา 12,000 ซึ่งมันแพงมาก

วันนี้ (19 ธค.61) จึงโทรศัพท์ไปขอคืนสินค้ากับทางเซลล์ แต่เขากลับปฎิเสธ ไม่รับคืน แถมยังบอกกับเราว่าแม่เซ็นสัญญาซื้อขายแล้ว ไม่ได้จับมือแม่เซ็น ของที่ขายไม่ใช่ขนม คนขายพูดจาแย่มาก ตอนขอคืนสินค้า พอโทร.ไปที่บริษัท บอกให้โทร.หา ผจก.ฝ่ายขาย เขาก็ปฏิเสธไม่รับคืนแล้วพูดจาแย่ๆ เหมือนเดิม ไม่คืนเงินมัดจำที่จ่ายไปงวดแรก 1,200 (สูนแฮงเด้อ) แถมขู่ว่าแม่เซ็นสัญญาซื้อขายแล้ว พวกมันทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว ต้องมีการเซ็นสัญญาด้วยเหรอ ?

แล้วถ้าราคาแพงขนาดนี้ และยังไม่ได้ใช้งานเลย จะขอคืนของไม่ได้เหรอ ?”

เมื่อทำการโพสต์เตือนผู้บริโภครายอื่น มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น และบอกเล่าประสบการณ์ว่า ที่บ้านก็โดนลวงขายสินค้าเช่นนี้ มาขายตอนคนแก่อยู่บ้านตามลำพัง ใช้การพูดจาหว่านล้อมให้คล้อยตามเช่นกัน สินค้าที่ได้แพงกว่าตลาดหลายเท่าตัว

สำหรับแนวทางของฝน เมื่อถูกปฏิเสธด้วยวาจาแย่ๆ จากทางบริษัทขายสินค้า เธอจึงรีบไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน ทางนายบ้านแม้จะรับดำเนินการไม่ได้ แต่ช่วยแนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ รวมทั้งขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ แต่ด้วยบริษัทขายสินค้าปิดทางหนีทีไล่เอาไว้โดยการทำสัญญาซื้อขาย จึงไม่อาจฟ้องร้องเอาผิดได้ เนื่องด้วยผู้ซื้อ ซึ่งก็คือพ่อแม่ของฝนเป็นผู้ยินยอม

แม้ยินยอม แต่ก็เป็นไปตามการถูกหว่านล้อมด้วยจิตใจที่ไร้คุณธรรม ใครฟังย่อมเข้าใจว่าโกง ตั้งใจหลอกลวงขาย

ตำรวจเมืองขอนแก่นเองก็เห็นเช่นนั้น จึงแนะนำว่า หากฝนไม่ต้องการผ่อนสินค้า เมื่อถึงกำหนดชำระ พนักงานมาเก็บค่างวด ให้บอกยกเลิก ไม่จ่าย แน่นอนย่อมมีการยึดสินค้า และเงินมัดจำงวดแรก เลวร้ายกว่านั้นอาจถูกข่มขู่ ฉะนั้นทางเจ้าหน้าที่จึงแนะนำให้เชิญพยาน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน มาร่วมอยู่ด้วย

เหตุผลที่ฝนเลือกไม่จ่ายค่างวด ยอมให้ยึดคืนสินค้า เพราะได้ปรึกษากับหลายๆ คน ทราบว่านอกจากหว่านล้อมให้คนแก่เซ็นสัญญาซื้อสินค้าแล้ว คนกลุ่มนี้ยังมีกลเม็ดซ่อนเอาไว้ คือเมื่อสินค้าใกล้ผ่อนครบ จะทำทีมาเก็บค่างวดช้า ให้ผิดนัด แล้วใช้เป็นข้ออ้างยึดของคืน เป็นต้น

นอกจากนี้ฝน ยังฝากบอกว่า ด้วยบริษัทใช้วิธีให้ลูกค้าเซ็นสัญญาซื้อขาย จึงเอาผิดยาก ฉะนั้นทางแก้ที่ดีที่สุด คือ เตือนคนเฒ่าคนชราที่บ้านว่า อย่าด่วนซื้อสินค้าเร่ ให้ระลึกเสมอว่าซื้อที่ร้านค้า อาจจะถูกกว่า

และนี่เป็นการโกงอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งดูง่ายๆ แต่มูลค้าที่เสียไปไม่น้อยเลยทีเดียว วิธีป้องกันที่ดีที่สุด ก็เหมือนที่ฝนบอก อย่าด่วนเชื่อ อย่าด่วนซื้อ เดินหาสินค้าที่ร้านย่านตลาดอาจถูกกว่า.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *