อนุสรณ์ ศรีคำขวัญเรื่องสั้น

ลูกค้าสายตรง : อนุสรณ์ ศรีคำขวัญ

กำหนดรถไฟสายใต้ สุไหงโก – ลก ขึ้น กรุงเทพมหานคร ขบวน ๑๗๒ ออกเวลา ๑๑.๓๐ น. แต่ขบวนล่อง ๑๗๑ ที่จะแปลงร่างเป็นเที่ยวขึ้น เพิ่งเทียบชานชาลา ระหว่างที่รถไฟเข้าจอด เจ้าหน้าที่ป่าไม้เดินมาแจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์งดซื้องดขายสัตว์ป่าให้ผม ก่อนเดินไปรณรงค์กับผู้โดยสารคนอื่นๆ เขากำชับ

“งาช้าง ไม่ได้เลยนะ”

ผมถึงกับเผลอตบอกเบาๆ แล้วกำพระเครื่องที่ห้อยคอหลวมๆ ทั้งๆ ที่เป็นเชือกถักกับเหรียญทองแดงรมดำหุ้มพลาสติก ไม่มีส่วนประกอบใดเป็นงาช้าง คงเป็นเพราะเจอการรณรงค์โดยฉับพลันจึงทำให้รีบสำรวจตัวเองโดยอัตโนมัติ

ตามกำหนดการรถไฟแห่งประเทศไทย เที่ยวล่อง ๑๗๑ ถึงจุดหมายเวลา ๑๐.๔๕ น. ช้าไม่ถึงชั่วโมงอย่างนี้ ถือว่าทำเวลาได้ดีมากทีเดียวหากเทียบกับอดีต เนื่องจากแต่ก่อนรถไฟขบวนนี้มักสมมนาคุณเวลาให้ผู้โดยสารอีก ๔ – ๕ ชั่วโมง เป็นเรื่องปกติ

รถไฟขบวน ๑๗๑ จอดสนิท พนักงานประจำสถานีต่างกุลีจุจอเติมน้ำ ทำความสะอาด เตรียมความพร้อมให้เคลื่อนขบวนต่อ ผมนั่งรอสักพัก คาดว่าคงทำความสะอาดเสร็จแล้ว เพราะแลไม่เห็นใครก้มๆ เงยๆ ในตู้ จึงก้าวฉับๆ เข้าไป ยังตู้นอนพัดลม ซึ่งจองล่วงหน้าไว้หลายวัน ปรากฏว่ายังไม่เสร็จ ฉะนั้นต้องลงไปนั่งคอยที่เดิม แต่ขาลงผมเลือกบันไดอีกด้านหนึ่ง

บันไดด้านนี้ ก่อนถึงเป็นช่องเก็บสัมภาระ พนักงาน ปูเตียงร่างใหญ่ยืนขวางอยู่ ผมจึงหยุดรอให้เขาขยับเปิดทาง แต่ไม่ เขากลับวุ่นอยู่กับเด็กหนุ่มส่งของ

“ช่องนี้ใส่ได้ ใส่ไปเร็วๆ” สั่งเสร็จเขามองหาช่องอื่น ตอนนี้เองที่เขามองเห็นผม จึงถาม “เอ้า จะไปไหม ?”
ผมพยักหน้ารับคำ
“จะไปก็ไปสิ ยืนอยู่ได้” เขาว่า
“พอดีพี่ขวางทางอยู่น่ะครับ ไปไม่ได้” ผมให้เหตุผล พนักงานปูเตียงทำสีหน้าไม่พอใจ เหงื่อที่ตกอยู่แล้วเพราะความร้อน และเร่งรีบ ยิ่งแตกใหญ่ แต่ก็หลีกทางพร้อมบอกให้เด็กยกของหลีกด้วย

ทางเปิด ผมทำตัวลีบๆ ตะแคงกายฝ่าสัมภาระที่วางเกะกะไปยังบันได แต่ยังลงไปข้างล่างไม่ได้อยู่ดี เพราะมีพนักงานเก็บตั๋วยืนขวางอยู่ เขาสนใจถุงขนาดกระสอบน้ำตาลที่กำลังยกใส่ช่องสัมภาระ

“อะไรน่ะ” พนักงานเก็บตั๋วถามเด็กยกของ
“เสื้อผ้าครับ”
“เยอะจัง ข้างล่างอีก”
พนักงานเก็บตั๋วว่า เหมือนเหตุการณ์เกิดซ้ำ เปรยจบ เขาหันมองมาทางผม
“อ้าว มายืนทำอะไร”
“จะลงไปข้างล่าง รอทำความสะอาดครับ”
ผมตอบ ได้ยินดังนั้น เขาหลบให้ แต่บ่นตามหลังดังๆ
“แล้วจะขึ้นมาทำไม ก็เห็นอยู่ว่ากำลังทำความสะอาด”

ถึงได้ยินแต่ผมไม่ถือสา เขาคงเหนื่อยกัน ย่อมหงุดหงิดบ้างเป็นธรรมดา อากาศร้อน รถเข้าเทียบช้า ต้องเร่งรีบไม่ให้รถไฟเสียเวลากระทั่งเสียภาพพจน์ จนลืมการรักษาน้ำใจลูกค้า คือผู้โดยสารอย่างผมไปชั่วขณะ คิดเอาใจเขามาใส่ใจเราได้ดังนั้น ใจผมพลันเย็น นั่งอ่านแผ่นพับรณรงค์การไม่ซื้อขายสัตว์ป่าต่อ อ่านไปตามิวายมองการทำงานของพนักงานปูเตียงเบื้องหน้า การช่วยเด็กขนของยกถุงและกล่องหนักๆ หลายชิ้น ทำให้เสียงกึ่งตะคอกผมเมื่อครู่แว่วมาอีกครั้ง

นึกน้อยใจอีกหน ทำไมเขาไม่พูดจาดีๆ กับลูกค้าบ้าง ลูกค้าคือคนที่เอาเงินมาให้นะ มีเงิน มีงาน มีความสุข ทางต้นสังกัดคงต้องบอกบ้าง เมื่อผมเห็นของชิ้นสุดท้ายถูกยกเก็บ และเห็นเด็กส่งของยื่นกระดาษคล้ายเงินส่งให้

จึงร้อง อ๋อ ในใจเบาๆ
‘นั่นลูกค้าสายตรงนี่เอง’

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *