คอลัมนิสต์ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

ปลาหลงฝูง : ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์

ธรรมชาติของปลาแต่ละชนิดย่อมแตกต่างกัน…

ปลาซิวปลาสร้อยจะเลือกอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ปลาตะเพียน ปลาแก้มแดง ปลาขี้เหม็น ก็เช่นเดียวกัน

แต่หากเป็นปลาช่อน หรือปลาตัวโตหลายชนิดมักเป็น “ปลาโทน” เวียนว่ายหรือกบดานอยู่อย่างสันโดษ ไม่ยอมรวมฝูง อาจเพราะนิสัยหรือลักษณะประจำตัวที่มักจะเป็น “นักล่า” แต่ละชนิดมีวิถีปลีกย่อยแตกต่างกันไปอีก บางปลาชอบว่ายทวนน้ำเชี่ยว บางปลาชื่นน้ำนิ่งสงบ บางปลาชอบเกลือกกลั้วอิงแอบอยู่ในน้ำขุ่นข้น บางปลากลับพิสมัยน้ำใสไหลเย็น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปลาชนิดใด มักหวงลูกเสมอ ยามมีลูกน้อยมักให้ลูกรวมฝูง แล้วตัวเองเวียนว่ายเฝ้าระวังอยู่เคียงข้างไม่ให้ศัตรูมากรุ้มรุมทำร้ายหรือแอบกินลูกของตัวเองเป็นเหยื่อ

เหล่ามนุษย์เรียนรู้ลักษณะนิสัยของปลาแต่ละประเภทอย่างลึกซึ้ง จึงคิดหาวิธีไล่ล่าได้อย่างแยบยล ทั้งวางเบ็ด วางกัด ทอดแห หรือไม่ก็ใช้เครื่องมือนานาชนิด เช่น อาวุธปืนหรือฉมวกยิงปลา ที่มักง่ายอาจถึงขั้นใช้ยาเบื่อยาเมา รวมถึงการโยนระเบิดจนปลาท้องแตกตาย ได้มาเป็นอาหารแต่ละมื้อ บางทีบางเที่ยวเยอะเกินกิน นำไปขายต่อให้พ่อค้าแม่ขายในตลาด พอทำให้มีรายได้บ้าง

พ่อค้าแม่ขายส่วนหนึ่งมีนิสัยชอบกดราคารับซื้อ แล้วนำไปขายต่อในราคาแพงกว่าราคารับซื้อหลายเท่าตัว บางรายคิดแต่ผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง ใช้วิธี “โกงตาชั่ง” ทำให้น้ำหนักขาดหายไปสักขีดสองขีด ดังปรากฏเป็นข่าวคราวอยู่บ่อยๆ ทำให้บางทีอดคิดไม่ได้ว่าด้วยเหตุผลอะไรทำให้ผู้คนเกิดอารมณ์ “อยากโกง” ขึ้นมา เป็นเพราะสิ่งแวดล้อม ความโลภ กิเลสตัณหา หรือความ “เยาว์วัย” เกินไป จนไม่รู้ไม่เข้าใจในความหมายของคำว่า “โกง”

ช่วงวัยทะโมนช่วงใช้ชีวิตอยู่ในชนบท นอกจากการเล่าเรียนหนังสือที่ให้ความรู้สึกสุดแสนน่าเบื่อแล้ว เวลา

ว่างพวกเรามักรวมฝูงกันวิ่งเล่น ไล่จับ เตะบอล หรือไม่ก็ชวนกันหาเวลาไปยิงนกตกปลาเรื่อยเปื่อย โดยมีการกำหนดกติกากันไว้เป็นครั้งคราวไป เช่น รอบนี้หากใครล่าได้อะไรให้ถือเป็นสิทธิ์ของคนนั้นเพียงผู้เดียว หรือบางเที่ยว ใช้วิธีรวมหมู่ยึดสามัคคีเป็นที่ตั้ง ใครไล่ล่าอะไรมาได้ หรือร่วมกันไล่ล่า ให้ตั้งเป็น “กองกลาง” ไว้ก่อน ทั้งนก กระรอก ไก่ป่า ชะมด ฯลฯ เสร็จสรรพแล้วค่อยมาจัดสรรแบ่งปันกันตามความเหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่มีปัญหา

ข้าพเจ้าจดจำวันวารได้แม่นยำว่า จะมีเพียงครั้งเดียวที่เกิดปัญหาแบ่งกันไม่ลงตัวในกลุ่มเพื่อนฝูงวัยทะโมน นั่นคือคราวหน้าแล้งหนึ่งที่พวกเราชวนกันไปวิดน้ำจับปลาในปลักโคลนหนองหล่มแถบชายทุ่ง ต้องเดินจากชุมชนออกไปในระยะไกลพอสมควร

“เขาว่าหนองนั้นปลาเยอะโว้ย” เพื่อนอาวุโสสุดในกลุ่มทะโมนตะโกนบอกเพื่อนพ้อง เมื่อได้ยินใครคนหนึ่งในกลุ่มอุทธรณ์ว่าทำไมถึงต้องไปหาปูหาปลาไกลขนาดนั้น พร้อมกับเพิ่มข้อมูลให้หนักแน่นน่าเชื่อถือเชิงเชิญชวนอีกว่า คราวน้ำมากไม่กี่เดือนก่อน มีพี่ป้าน้าอาหลายคนไปวางเบ็ดวางกัดแถบนั้น ได้ปลาช่อน ปลาดุก ตัวเท่าแข้งเท่าขา นำไปขายได้ราคาสูงลิ่ว

“เออๆ กูเชื่อมึงแล้ว ไม่ต้องพูดมาก ไปกันเลยดีกว่า เดี๋ยวแดดจะร้อนกว่านี้ ได้เท้าบวมเท้าพองกันอีก”

สิ้นคำ พวกเรารวมกันเกือบ ๑๐ ชีวิต แยกย้ายกันคว้าอุปกรณ์ประกอบการล่า ทั้งจอบ เสียม ถังน้ำ บางคนเหน็บหนังสติ๊กไว้ข้างเอว เผื่อระหว่างทางเจอนกเจอสัตว์ป่า จะได้ใช้ยิงได้ไม่เสียเวลาเปล่า ก่อนพากันเดินดุ่มๆ ด้วยเท้าเปล่าเปลือยออกจากหมู่บ้านที่อยู่อาศัย

หลังใช้เวลาเดินลัดเลาะจนหลังพอชุ่มเหงื่อ มุ่งสู่ป่าใหญ่สวนยางซึ่งกำลังทิ้งใบ ตัดออกชายทุ่งเห็นข้าวกำลังทิ้งรวงอมเหลือง แล้วตัดเข้าชายป่าริมทุ่ง คณะเราจึงถึงหนองน้ำที่เคยเป็นบึงใหญ่ แต่เวลานี้น้ำในบึงเหลือไม่มากนักด้วยเข้าสู่ฤดูแล้งร้อน จากบึงใหญ่กลายเป็นหนองน้ำงวดเป็นหย่อม ๆ น้ำขุ่นข้นสีโคลน กอกกขึ้นแซมประปรายใบเริ่มกรอบเกรียมจากแดดเริงร้อน บางช่วงขณะเกิดน้ำผุด ปลาฝูงกระโดดจ่อมแจ๋มชวนครึกครื้น

“ดูซิ ๆ ปลาเยอะแน่ ๆ” สิ้นเสียงชวนให้หัวใจสั่นระริก คณะนักล่าวัยทะโมน เริ่มต้นลงมือทำงาน บางคนทำคันดินกั้นไว้เป็นผนังกั้นน้ำ พอเสร็จสรรพ จึงเริ่มช่วยกันวิดน้ำออกจากหนอง เหนื่อยนักก็พัก ยื่นถังวิดน้ำให้เพื่อนคนต่อไปทำหน้าที่ กระทั่งน้ำงวดลงเรื่อย ๆ พอเห็นร่องรอยการเคลื่อนไหวของปลามากขึ้น ปลากระดี่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลากด ปลาไหล ฯลฯ ต่างช่วยกันไล่จับ บางคนล้วงมือไปในหล่มโคลน เพราะปลาใหญ่มักซุกตัวอยู่ใต้ดินโคลน หรือไม่ก็หาช่องหารูเข้าไปซุกหวังให้มีชีวิตรอดปลอดภัย

จำนวนปลาที่จับได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ หลายคนชำเลืองมองด้วยความชื่นใจ ในใจใครบางคนอาจหมายปองปลาตัวใดตัวหนึ่งที่เพื่อน ๆ จับมาได้ คิดถึงรสแกงฝีมือแม่ หรือธนบัตรที่แม่ค้ายื่นให้หลังชั่งน้ำหนักปลา ดูเหมือนว่าเงา “ความโลภ” เริ่มฉายทับตัวตนของบางใครเข้าบ้างแล้ว

ขณะหนึ่งนั้นเองใครคนหนึ่งกำลังล้วงจับปลาตัวใหญ่ แต่กลับใช้กายกำบังไม่ให้กลุ่มเพื่อนที่กำลังสาละวนอยู่กับการไล่จับปลามองเห็น ก้ม ๆ เงยๆ อยู่สักพัก มองจากด้านหลังพอเห็นเค้าว่าจับได้แล้ว จากนั้นค่อย ๆ เดินไปหย่อนไว้ในถังน้ำซึ่งวางซุกไว้มุมหนึ่ง ห่างไกลสายตาจากกลุ่มเพื่อนร่วมแก๊งค์

ผ่านเวลาจากสายจนเกือบค่ำ ปลาในหนองแทบจะถูกจับหมดแล้ว คณะนักล่ารวมตัวกันอยู่หน้าถังใบย่อมซึ่งมีสารพัดปลาที่จับได้เกือบเต็มถัง พลันเสียงใครคนหนึ่งดังก้องมาจากมุมหนึ่งของหนองน้ำ

“เฮ้ยย ใครแอบจับปลาช่อนมาไว้ในถังน้ำนี้ว่ะ” เสียงอุทานจากสมาชิกเพื่อนวัยทะโมน ขณะใช้มือหยิบถังพลาสติกสีเขียวเข้มมาให้เพื่อน ๆ ดู ในถังปรากฏภาพปลาช่อนอ้วนท้วนตัวโตน้ำหนักค่อนโลนอนแน่นิ่งอยู่ ต่างคนต่างรุมล้อม มองตากันเลิกลักด้วยความตื่นเต้นระคนสงสัยว่าเป็นฝีมือใครคิดไม่ซื่อ แต่หากมีคนช่างสังเกตย่อมสัมผัสได้ถึงสายตาใครคนหนึ่งที่กำลังจด ๆ จ้อง ๆ ปลาช่อนตัวใหญ่ด้วยความเสียดาย ก่อนจะหลุบตาลงต่ำอำพราง
กระทั่งเวลาผ่านไปสักพักท่ามกลางความเงียบงัน…

“กูว่าถ้าไม่มีใครยอมรับ เราเอามารวมกับปลาทั้งหมดที่จับได้ล่ะกัน แล้วมาแบ่งกันเลย นี่ก็ใกล้มืดค่ำแล้ว กว่าจะเดินกลับถึงบ้านมืดค่ำพอดี” เพื่อนในกลุ่มเสนอความเห็น

ทุกคนเห็นด้วยทันที จัดการลากถังพลาสติกใบโตซึ่งใช้ใส่ปลาที่ช่วยกันจับมาได้ทั้งหมด วางไว้ในพื้นที่ว่างแห่งหนึ่ง แล้วเทปลาจากปากถังลงพื้น หลายตัวนอนแน่นิ่ง ขณะหลายตัวดิ้นขลุกขลักไถลตัวไปตามพื้น ต้องไล่จับมารวมกัน คัดแยกเป็นกอง ๆ คละชนิดปลาและขนาด เพื่อจัดสรรให้ลงตัวสำหรับสมาชิกทุกคนที่ร่วมลงใจลงแรงเหนื่อยมาด้วยกัน

เหมือนผีซ้ำด้ำพลอยจากอารณ์ที่ถูกสั่งสมจากการจับได้ว่ามีคน “คิดไม่ซื่อ” แอบเร้นปลาซึ่งเป็นของส่วนรวมมาเป็นของส่วนตัว หรือเป็น “กรรมวิถี” จากที่มีคนคิดไม่ซื่อตั้งใจเม้มปลาช่อนตัวโตที่จับได้ แต่ไม่ยอมรับผิด พอถึงช่วงการจัดสรรแบ่งปลากัน จึงไม่ลงตัวสักที คนนี้อยากได้กองโน้น คนโน้นอยากได้อีกกอง พอมีคนเสนอให้จับไม้สั้นไม้ยาว หลายคนไม่ยอม เกิดการโต้เถียงกันไปมา จนเสียงพูดแปรเป็นเสียงตะโกน หน้าตาของความเป็นมิตรกลายเป็นใบหน้าแปลกตาต่อกัน เรื่องราวลุกลามบานปลายออกไปเรื่อย ๆ ใบหน้าแต่ละคนแทบจะอมเงาแสงสีดำตามม่านฟ้าที่ค่อย ๆ ห่มคลุมผืนดินรอบข้างหลังอาทิตย์อับแสง

“เอางี้แล้วกัน” ผู้อาวุโสสุดสรุปก่อนที่เรื่องราวจะกลายเป็นอื่น “ถือว่าครั้งนี้เป็นการวัดใจพวกเราทุกคน เมื่อต่างคนต่างไม่ยอม ก็ปล่อยปลาทั้งหมดลงน้ำเป็นอิสระเหมือนเดิมดีกว่า”

ในท่ามกลางความขมุกขมัว สายตาหลายคู่เหม่อลอย บางคู่ซ่อนแววเหนื่อยเศร้า บางคนทอดสายตาไปทางหนองน้ำที่ก่อนหน้านี้ไม่นานต่างช่วยกันวิดน้ำจนแทบเหือดแห้งเพื่อช่วยกันใช้สองมือไล่จับปลา หากทว่าบัดนี้น้ำเริ่มเพิ่มระดับขึ้นหลังมีการนำดินที่คั่นกันน้ำออกจนน้ำอีกด้านที่ถูกกักไว้ไหลลงสู่ที่ต่ำ

ปลาตัวแล้วตัวเล่าถูกจับปล่อยคืนสู่ผืนน้ำ บางตัวตายแล้วนอนแน่นิ่งอยู่ก้นน้ำ ตัวที่ยังพอมีแรง ค่อย ๆ ว่ายเวียนวนจับกลุ่มกันเป็นฝูงดังเดิม ท้ายสุด ปลาช่อนตัวโตเจ้าปัญหาซึ่งยังดูแข็งแรง พอถูกปล่อยลงน้ำ รีบมุดน้ำมุดโคลนหายตัวกลืนกลายไปกับสายน้ำขุ่นข้นแทบจะทันที

ผ่านมา ๓๐ กว่าปี นอกจากจะหวนคิดถึง “ตาชั่ง” ของเหล่าพ่อค้าแม่ขายทุกครั้งคราที่ได้ไปเดินตลาด หรือคิดถึงช่วงชีวิตวัยเยาว์ในป่าในเขาในหนองน้ำ แทบทุกครั้งที่ได้ท่องเที่ยวไปในป่าเขาหรือชมทัศนียภาพของท้องทุ่งนา ข้าพเจ้ายังคงคิดความสัมพันธ์ของเพื่อนในกลุ่มทะโมนซึ่งต่างเติบโตตามวิถี

บางคนเสียชีวิตไปก่อนวัย บางคนทำงานทำการสร้างธุรกิจใหญ่โต บางคนเป็นคนเขียนหนังสืออิสระ บางคนยังคงใช้ชีวิตอยู่กับท้องทุ่งไร่นา เมื่อมีเวลามีการนัดพบกันบ้างตามวาระโอกาสอำนวย

หากทว่าสำหรับเพื่อนบางคน กลับถูกปล่อยลืมเลือนไปตามกาลเวลา…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *