คอลัมนิสต์ไมเคิ้ล เลียไฮ

คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ไม่เป็นเหตุเป็นผลเพียงพอ ?

มีการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ในงานวิจัยที่น่าสนใจเมื่อราวปี 2554 เป็นการใช้ ทฤษฎีเกม จำลองสภาพหลังการกระทำผิด โดยผู้เล่น 2 ฝ่ายมีโอกาสตัดสินใจจะยอมจ่ายค่าปรับหรือเลือกจ่ายเงินสินบน และเลือกรับเงินสินบนหรือปฏิเสธรับเงินสินบน เกมดำเนินไปภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน 4 แบบ โดยทดลองเล่นกับนักศึกษาระดับปริญญาตรีกลุ่มหนึ่ง

ผลลัพธ์ที่ได้บอกว่า มนุษย์ที่มีเหตุมีผลส่วนมาก มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจเลือกเอาการคอรัปชั่นเป็นทางออก เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์สูงสุด

ในระหว่างที่เล่นเกมนั้น ผู้ควบคุมเกมจะไม่อธิบายสถานการณ์ที่ชัดเจนให้กับผู้เล่น แต่ละฝ่ายจะมีทุนเริ่มต้นของตนเอง และเงินแทนสินบนในเกมจะถูกเรียกว่า “เงินโอน” ดังนั้นระหว่างเล่นเกม ผู้เล่นจึงไม่ทราบว่าเกมที่ตนเองกำลังเล่น เป็นการจำลองสถานการณ์คอรัปชั่น จึงสามารถตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของตนได้อย่างอิสระ

คิดๆ แล้วเหมือนผลโพลล์บางสำนักที่ระบุว่าประชาชนคนไทยนั้น “ไอด้อนท์แคร์” ครับ ถ้ารัฐบาลจะโกงกิน ขอแค่ข้ามีผลประโยชน์ร่วมด้วยก็พอ

จึงไฟเขียวให้คอรัปชั่นได้ – ฮา

แต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม อาจเป็นเพราะพวกเราชาวไทย (ส่วนใหญ่) มักไม่ค่อยมองว่าคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรมเป็นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล เรียกได้ว่ามีเหตุผลไม่เพียงพอที่จะนำไปเปรียบกับการคอรัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์ชัดเจน จับต้องได้ อาจเป็นผลมาจากการสั่งสอนคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม ที่มักอ้างอิงกับศาสนามากกว่าวิทยาศาสตร์ ไม่เคยมีคำอธิบายมากพอจะเชื่อถือได้สนิทใจ ว่าเมื่อประพฤติตามแล้วจะได้รับสิ่งดีๆ กลับคืนมา

การสรุปผลวิจัยดังกล่าว หนึ่งในสี่ข้อจึงระบุไว้ชัดเจนว่า “ในสภาวะธรรมชาติ มนุษย์มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมคอรัปชั่น” เพราะทั้งการเลือกจ่ายสินบนและการเลือกรับสินบน ต่างให้ผลประโยชน์ที่น่าพึงพอใจ

คุณสมศักดิ์ขับรถออกจากบ้าน เขาตื่นแต่เช้าเพราะเป็นคนขยันทำงานมาก จังหวะมาเจอะคุณจ่ายืนดักอยู่หน้าปากซอยบ้านพอดี เป็นการตั้งด่านถูกต้องโดยไม่ต้องลำบาก คุณเกรียงไกร ไทยอ่อน มาช่วยตรวจสอบ คุณจ่าสังเกตเห็นคุณสมศักดิ์ลืมคาดเข็มขัดนิรภัยออกมาจากบ้าน จึงเสนอทางเลือกให้กับคุณสมศักดิ์ ว่าจะขับรถไปจ่ายค่าปรับที่โรงพักหรือจะจ่ายค่าธรรมเนียมการไม่ออกใบสั่งที่ด่านนี้ ซึ่งคุณสมศักดิ์จะเลือกอย่างไรก็แล้วแต่ “จะจ่ายแพงกว่าทำไม” แน่นอน คุณสมศักดิ์ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนนี่เอง จึงยึดถือคตินี้มาตลอด ทุกครั้งที่พลาดท่าเจอะคุณจ่าที่หน้าปากซอยบ้าน

ควักเงินจ่ายไปแล้ว 200 บาทโดยไม่มีใบเสร็จ และไม่บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม เอาไปหักภาษีซื้อก็ไม่ได้ คุณสมศักดิ์ขับรถจากมาด้วยความหงุดหงิด เกิดความไม่พึงพอใจต่อระบบราชการไทย นึกไม่อยากยอมรับกฎหมายจราจรบางข้อ นึกไปนึกมา ถึงขั้นอยากต่อต้านเผด็จการรัฐสภา…

ขับมาถึงที่ทำงาน จึงระบายอารมณ์กับเพื่อนร่วมงาน

“ผมถูกตำรวจรีดไถ เสียเงินไปสองร้อย น่าเสียอารมณ์จริงๆ ผมเป็นพลเมืองดี ไม่น่าทำกับผมแบบนี้เลย”

ไม่ใช่แค่คุณสมศักดิ์หรอกครับ ทั้งคุณสมศรี สมหมาย สมเดช สมเจตนา หรือสมไหนๆ ก็ตาม ต่างมองข้ามความผิดของตัวเองกันหมด เพราะที่จริงการเลือกจ่ายสินบนแก่ผู้รับสินบน เป็นความผิดของผู้จ่ายสินบนเช่นกัน

และถือเป็นคดีอาญาด้วย

แต่คนเรา…มักโทษคนอื่นได้ตลอด

โดยปกติคุณสมศักดิ์เป็นคนดีใช้ได้ หากไปถามกับเพื่อนร่วมงานสิบคน ทุกคนก็บอกว่าคุณสมศักดิ์เป็นคนดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ทำไมเรื่องนี้ คุณสมศักดิ์จึงเลือกจะจ่ายสินบน 200 บาทล่ะเนี่ย ?

ทุกคนก็เดาได้ คุณสมศักดิ์คงเป็นอีกคนหนึ่งที่คิดว่าการจ่ายสินบนเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง

ไม่รู้คิดผิดหรือคิดถูก แต่ต้องคิดดูเองครับ…

กลับมาที่เกมคอรัปชั่นดีกว่า, ขออนุญาตเฉลยว่าเกมนี้อยู่ในรายงานการวิจัย บทบาทของรางวัลนำจับ และการลงโทษต่อการแก้ปัญหาคอรัปชั่น วิธีการทดลองขั้นพื้นฐานทางเศรษฐ-ศาสตร์ เป็นผลงานการวิจัยของคุณลอยลม ประเสริฐศรี ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

นอกจากจะตอบคำถามอื่นๆ ที่ผู้วิจัยนำไปเทียบเคียงกับข้อค้นพบทางวิชาการแล้ว ถ้านำไปประยุกต์ใช้ดีๆ ยังเป็นเกมที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทห้างร้านต่างๆ สามารถนำไปใช้เล่นกับพนักงานภายในองค์กรว่าในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ภายในองค์กรของท่านจะตัดสินใจอย่างไร เช่นจะตัดสินใจรับสินบนไหม หรือจะตัดสินใจปฏิเสธรับสินบน ถ้าผลลัพธ์ออกมาแบบเดียวกับรายงานการวิจัยนี้ บริษัทของท่านคงล่มจมแน่ๆ

เพราะจากรายงานการวิจัยฉบับนี้ ในสภาวะธรรมชาติที่ไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ คนเราเลือกเอาการคอรัปชั่นเป็นทางออกสูงถึง 87.50% เลยทีเดียวครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *