กองบรรณาธิการสกู้ป

กินอะไรก็ได้ อย่ากิน “ข้าว” ประวัติศาสตร์ของ ข้าว และคดียึดทรัพยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

1
จากร่องรอยของเม็ดข้าวที่ติดบนเศษภาชนะที่มีอายุยาวนานกว่า 9,000 ปีในประเทศจีน กลายเป็นต้นทางของอารยธรรมแห่งยุคเพาะพันธุ์ข้าว ซึ่งได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของชาวเอเชียไปตลอดกาล เมื่อรู้จักการเพาะปลูก สะสมแลกเปลี่ยน ตลอดจนพัฒนารูปแบบเศรษฐกิจการค้าทางทะเล ข้าวจึงกลายเป็นสินค้าสำหรับการแลกเปลี่ยน

คนไทยเริ่มปลูกข้าวกินตั้งแต่ประมาณ 5,000 ปีก่อน นักโบราณคดีค้นพบชุมชนผลิตข้าวที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น นอกจากนี้ ข้าวยังเป็นสินค้าส่งออกอย่างหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ด้วยสภาพพื้นที่ของกรุงศรีอยุธยาเป็นพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เหมาะสมแก่การปลูกข้าว ข้าวจึงถูกเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหารหลัก และสำหรับสะสมไว้ในยามศึกสงคราม

ด้วยเมล็ดของข้าว หญ้าขนาดใหญ่ประเภทนี้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับข้าวอย่างมากมาย

2
ประเพณี ฮีตสิบสอง-คองสิบสี่ ของชาวอีสาน ปรากฏจารีตประเพณีที่เกี่ยวข้องกับข้าว หากไม่เป็นด้วยวีถีชีวิตที่สัมพันธ์กับข้าวอย่างลึกซึ้ง ก็จะไม่เกิดประเพณีเหล่านี้ขึ้น

งานบุญประเพณีในเดือนยี่ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับข้าว เมื่อพวกเขาประกอบประเพณีบุญคูณลาน และการสู่ขวัญข้าว เช่นเดียวกับการสู่ขวัญคน เรียกขวัญของพระแม่โพสพที่ตกหล่นตามท้องนาขึ้นสู่ยุ้งฉาง ป้องกันศัตรูพืชและสัตว์ เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้นในปีต่อๆ ไป ทั้งโดยในสมัยโบราณ การปลูกข้าวไม่ได้มีเหตุผลเรื่องการค้าเป็นหลัก แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของความหวัง เรื่องปากเรื่องท้อง ที่แต่ละครัวเรือนจะมีข้าวกินได้ตลอดปีหรือไม่

เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสามจะมีการทำบุญข้าวจี่ ชาวอีสานจะใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อย นำไปจี่บนไฟ ชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วจึงนำไปถวายพระ สำหรับในเดือนเก้า ข้าวกลายเป็นตัวแทนความรักที่มีต่อบรรพบุรุษ ด้วยงานบุญประเพณีบุญข้าวประดับดิน เป็นการบูชาผีบรรพบุรุษและผีไร้ญาติ โดยนำห่อข้าวน้อยไปวางหรือแขวนไว้ตามต้นไม้ กล่าวเชิญวิญญาณบรรพบุรุษและญาติมิตรที่ล่วงลับมารับส่วนกุศล

รวมถึงการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผีเปตรผีอัปปรีย์ต่างๆ

3
พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) ฝรั่งชาวอเมริกัน จบการศึกษาวิชากฎหมายจากฮาวาร์ด เดินทางเข้ามารับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของสยาม ในรัฐบาลสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บอกเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ เดอะ แกลด แอดเวนเจอร์ ว่าแผ่นดินไทยในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมืองสยามอยู่ในฐานะมั่งคั่ง ราษฎรส่วนใหญ่ไม่ต้องประสบกับความหิวโหยเหมือนผู้คนในภูมิภาคอื่นของเอเชีย รัฐสยามสามารถผลิตข้าวได้อย่างมากมายและเหลือเฟือ กระทั่งมีข้าวส่วนเกินจากการบริโภคมากถึง ๑,๕๐๐,๐๐๐ ถึง ๒,๐๐๐,๐๐๐ ตัน ชาวนาชาวไร่ไม่มีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจการเกษตรของสยามเกิดขึ้นจากหน่วยการผลิตขนาดย่อยที่สามารถสร้างความมั่งคั่งแก่อาณาจักร

นายฟรานซิส บี. แซร์ บันทึกความคิดเห็นของตนที่มีต่อสังคมสยามว่า

“ข้าพเจ้าเชื่อเหลือเกินว่าในประวัติศาสตร์ของประเทศสยาม จะต้องไม่เคยมีการก่อการกำเริบของราษฎรเลยแม้สักครั้งเดียว”

แม้ ฟรานซิส บี. แซร์ จะกล่าวไว้อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้การกระทำของคณะราษฎรมีน้ำหนักเป็นอย่างมาก ก็เป็นด้วยเหตุผลในเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำของรัฐสยาม เรื่องปัญหาข้าวยากหมากแพง ที่แม้จะเป็นผลจากเศรษฐกิจโลก แต่หนังสือพิมพ์ในเวลานั้นก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสยามภายใต้การปกครองอย่างไม่เกรงกลัว เมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์ข้าวในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ข้าวไทยมีราคาสูงกว่าราคาข้าวของเพื่อนบ้าน รวมทั้งเป็นเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย

จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของสยามอีกด้วย

4
เมื่อราว พ.ศ. 2500 ต้นๆ ในช่วงการสอบสวนคดีประวัติศาสตร์ อธิบดีกรมทะเบียนการค้าเปิดเผยว่า จอมพลสฤษดิ์และท่านผู้หญิงวิจิตรามีผลประโยชน์จากบริษัทต่างๆ มากถึง 45 แห่ง

หนึ่งในนั้นเป็นการถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทกรุงเทพกระสอบป่าน ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาท หมายถึงผลประโยชน์มหาศาลจากอุตสาหกรรมข้าวได้ตกอยู่ในมือของจอมพลสฤษดิ์ ด้วยมีการออกกฎให้ซื้อกระสอบป่านจากบริษัทดังกล่าว

ทางด้านอธิบดีกรมที่ดินกล่าวว่า จอมพลสฤษดิ์มีที่ดินมากกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และมีที่ดินอีกนับไม่ถ้วนทั่วพระนคร อีกทั้งจอมพลสฤษดิ์มีเงินสดในธนาคารประมาณ 410 ล้านบาทในสมัยนั้น

จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 17 แห่งธรรมนการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ออกคำสั่งยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยให้ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐ

มีคำสั่งเป็นใจความสำคัญว่า

“โดยที่ปรากฎว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะมีชีวิตอยู่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในราชการโดยมิชอบ กระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์สินของรัฐไปหลายครั้งหลายหนเป็นจำนวนมากมาย เท่าที่ปรากฏในขณะนี้ มีมูลค่าถึง 435,704,115.89 บาท ซึ่งเมื่อรวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีแล้ว เป็นเงินที่รัฐได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้น 574,328,078.26 บาท การกระทำดังกล่าวมีผลเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร และโดยที่ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์เป็นภริยาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ร่วมรับประโยชน์จากการนี้ด้วย
อาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของรัฐทันทีในวันที่ออกคำสั่งนี้…”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *