ไม่เปลืองเปล่า : บุญทม วันสูง
๑
ยิ่งก้าวยิ่งอืดเอื่อย ยกขาแทบไม่ขึ้น ได้แต่กัดฟันก้มหน้าก้าวเดินต่อไปเรื่อย เหงื่อซึมแผ่นหลัง หายใจเข้าลึก ทุกเวลานาทีที่ผ่านล่วงไป คือการสะสมพลัง มันคือการบำรุงรักษาร่างกายให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
และทุกครั้งที่เริ่มเบื่อ ประโยคหนึ่งผุดจะขึ้นมาในหัวของผม
“อย่ารอให้แข้งขาอ่อนเปลี้ยจนยกไม่ขึ้น แล้วจึงมาออกกำลังกาย อย่ารอให้มานึกเสียใจ เมื่อนั่งอยู่บนรถเข็น หรือนอนแบ็บติดเตียง แล้วค่อยจินตนาการว่ากำลังออกกำลังกายอยู่ ทำตอนที่ยังทำได้ วิ่งตอนที่วิ่งได้
นี่แหละคือสิ่งที่ประเสริฐสุดแล้ว”
๒
ผมตื่นนอนตอนตีห้า ฟ้าที่บนดอยยังรำไร เสียงไก่ขันจากตรงนั้นตรงนี้ ดังไล่กันไปในหมู่บ้านที่แอบอยู่ในหุบเขา ลุกขึ้นมาบิดตัวขับไล่ความขี้เกียจ ปลุกปลอบตัวเองว่าเพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ผมควรจะออกกำลังกาย
สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องทำเอง
เราจะกำเงินไปเท่าไหร่กัน เพื่อจะจ้างคนอื่นมาออกกำลังกายให้ มันคงเป็นเรื่องน่าหัวร่อเป็นที่สุด
ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
ช่วงห้านาทีแรกนั่นแหละ ที่มันค่อนข้างจะอืดเอื่อย ต้องพยายามสลัดความหนืดเนือยให้ผ่านไป พอเครื่องร้อนได้ที่ ความรู้สึกดีๆ จะเข้ามาแทน ผมพยายามทำให้มันเป็นนิสัย เพื่อร่างกายของตัวผมเอง และเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น
ผลพลอยได้จากการออกกำลังกายก็คือ ความรู้สึกสงบและมีสมาธิ มีเรื่องให้เขียน มีเรื่องให้ขบคิดในขณะที่เดินรอบสนามในเช้าตรู่นั้น บางเรื่องเกิดขึ้นไปแล้ว บางเรื่องกำลังทำอยู่ และบางเรื่องคือสิ่งที่อยากจะทำ
เรื่องสั้นบางเรื่องแวบเข้ามาในหัว ในขณะที่เรื่องสั้นที่กำลังเขียนค้างไว้ ได้รับการต่อเติมในจินตนาการ จนเห็นเป็นรูปร่าง บางครั้งวรรคสุดท้ายผุดขึ้นมา เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง สำหรับคนรักการเขียนหนังสืออย่างผม
๓
ทุกเย็นวันอาทิตย์ รถโรงเรียนที่ไปซื้อกับข้าวมาจากข้างล่างจะขึ้นมาถึง กับข้าวนักเรียนทั้งสัปดาห์ นักเรียนห้าร้อยกว่าคน เงินโครงการอาหารกลางวันที่กำลังเป็นข่าวกันนั่นแหละ ที่โรงเรียนของผมจะซื้อวัตถุดิบมาเอง
แล้วจ้างแม่ครัวมาทำ
ครูที่ได้รับมอบหมายให้ไปซื้อกับข้าวจะต้องเสียสละเวลาพักผ่อนของตัวเอง กับข้าวหลายอย่าง ต้องไปซื้อหลายที่หลายร้าน กว่าจะครบตามรายการ บางร้านมีคนขนขึ้นมาให้ บางอย่างต้องหิ้วขึ้นรถเอง ของเต็มลำรถกระบะ พอมาถึงดอยก็ต้องมีคนช่วยขนของลง
ไม่รู้จะกล่าวโทษใคร ครูที่โรงเรียนมีเกือบสามสิบคน บางคนก็มาช้า บางคนยังขึ้นมาไม่ถึง บางคนมาแล้ว ไม่ได้มาช่วยยกของ มันก็หน้าเดิมๆ ๕ – ๖ คนเท่านั้น ยกหมูยกไก่จนเหงื่อโทรมหน้า แขนล้ากันไปข้าง ยิ่งไก่ที่แพ็คมาในถุงแช่อยู่ในถังน้ำแข็ง มันเย็นและปวดหลัง ส่วนมากเป็นผมกับครูสงกรานต์นี่แหละที่ช่วยกันยกลง
บ่นกันแค่สองคน ไม่กล้าพูดกับใคร
มันเหนื่อย มันเบื่อ คงไม่มีใครคิดถึงงานกรรมกรแบบนี้ งานที่ต้องอยู่เบื้องหลัง ไม่ชอบถ่ายรูปแล้วไปบ่นในเฟซบุ๊ก หรือประดิษฐ์ถ้อยคำเท่ๆ ว่าทำเพื่อเด็ก
อะไรประมาณนั้น
ขณะล้างน้ำแข็งออกจากถัง ครูสงกรานต์พูดขึ้นมาประโยคหนึ่ง มันทำให้ผมหายเหนื่อย และคิดในแง่บวกมากขึ้น มันว่า
“ไอ้ตั้ม (ลูกชายมัน) ไปเข้ายิมชั่วโมงละห้าสิบบาท เราก็เหงื่อเต็มหลัง ไม่เห็นต้องเสียเงิน”
มันก็จริงอย่างที่ครูสงกรานต์มันว่า…