กองบรรณาธิการสกู้ป

กฎหมายร้อยปี ครอบครองปรปักษ์ ไม่เคยเปลี่ยน ไม่เคยปรับ ไม่เคยแก้ไข

“หลวงพ่อท่านไม่เคยหยุดหรอกครับ”

คำบอกเล่าของจิตอาสาซึ่งบอกว่าตนเองเป็นวิศวกร ที่เลือกใช้เวลาหนึ่งเดือนก่อนเปลี่ยนไซต์งาน มาทำงานอาสาช่วยงานของวัดสวนแก้ว และรับส่งพระพยอม กลยฺาโณ

“ท่านทำงานจนถึงตีหนึ่งตีสองทุกวัน ท่านออกจากกุฏิตั้งแต่ตีห้า มอเตอร์ไซค์คันนี้แหละครับ ที่ผมใช้รับส่งท่าน”

นานกว่า 10 ปี ที่มูลนิธิสวนแก้วมีปัญหาข้อพิพาทกรณีที่ดินครอบครองปรปักษ์ ที่นางวันทนานำโฉนดมาเสนอขายให้แก่มูลนิธิตั้งแต่ปี 2547 จนเกิดเป็นข้อพิพาทที่ยืดเยื้อยาวนาน เป็นปัญหาจบไม่ลง เมื่อนางวันทนาให้การในชั้นศาลว่าตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน หากแต่เป็นเพียงผู้เช่าที่ดินตลอดมา จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม คำให้การของนางวันทนาส่งผลต่อคำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรีซึ่งพิจารณาคดีจากคำให้การของจำเลยที่หนึ่งคือนางวันทนา สุขสำเริง และจำเลยที่ 2 มูลนิธิสวนแก้ว ให้คืนที่ดินมูลค่า 10 ล้านบาทแก่นางทองอยู่ หิรัญประดิษฐ์ เจ้าของเดิม เพราะการซื้อขายดังกล่าวถือเป็นโมฆะ

แต่เดิมนางวันทนา สุขสำเริง อ้างว่าตนอาศัยที่ดินผืนดังกล่าวอยู่อาศัยมานานกว่า 10 ปี (บ้างว่า 19 ปี, บ้างว่า 36 ปี, บ้างว่า 40 กว่าปี) เป็นการครอบครองโดยสงบและเปิดเผย จึงร่วมกับทนายคนหนึ่งขอคำสั่งศาลให้กรมที่ดินออกโฉนดที่ดินขนาด 1 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา ให้แก่ตน และได้ขายที่ดินอันเป็นข้อพิพาทนั้น หากในภายหลัง ที่ดินอีกแปลงหนึ่งที่ตัดขายไป กลับให้โทษแก่ตัวนางวันทนาเอง

เพราะนางวันทนากลับต้องโทษจำคุกเป็นเวลานานถึง 3 ปีด้วยกัน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ระบุว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี… ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

ด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับแรกประกาศใช้งานจริงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ปรากฎมีมาตรา 1382 หรือการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวอยู่แล้ว จึงสามารถเรียกได้ว่าเป็น “มาตรากฎหมายร้อยปี” อีกมาตราหนึ่ง เป็นเพราะมีอายุการใช้งานใกล้ครบหนึ่งร้อยปี จะขาดไปแค่เพียง 4 ปีเท่านั้น

เจตนาแห่งการบัญญัติมาตรา 1382 เข้าสู่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตั้งแต่ประมาณหนึ่งร้อยปีก่อน ย่อมแสดงให้เห็นถึงความต้องการในทางอ้อมที่จะผลักดันให้ประชาชนก่อประโยชน์จากผืนดิน ซึ่งเป็นหน่วยการผลิตที่สร้างเศรษฐกิจให้แก่สยาม โดยหากราษฎรผู้ใดถือครองที่ดินโดยไม่ทำประโยชน์ ก็สามารถบังคับโอนที่ดินนั้นให้แก่ราษฎรผู้ทำประโยชน์ สำหรับผู้หักร้างถางพง สร้างบ้านแปงเมือง หรือสร้างชุมชนใหม่บนพื้นที่ต่างๆ ของสยาม

กฎหมายมักถูกเขียนขึ้นด้วยเจตนาที่ดี เพื่อสร้างสังคมที่สงบสุข สร้างความเจริญพัฒนาให้แก่ประเทศ รวมทั้งลดความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างประชาชน หากในปัจจุบันกลับกลายเป็นว่ากฎหมายครอบครองปรปักษ์มีส่วนในการสร้างข้อพิพาทที่ยาวนาน ด้วยรูปแบบสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คำจำกัดความของกฎหมายกลายเป็นสิ่งที่คลุมเครือในยุคสมัยปัจจุบัน และพิสูจน์ถึงความถูกผิดได้ค่อนข้างยาก

ดังกรณีมูลนิธิสวนแก้วกับลูกหลานของนางทองอยู่ ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนตัวอย่างหนึ่ง หากกฎหมายนี้ถูกยกเลิกตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2547 ข้อพิพาทนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ มูลนิธิสวนแก้วซึ่งประกอบคุณงามความดีมากยิ่งกว่านักการเมืองทุกคนในประเทศนี้ เป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือผู้คนมากกว่า 1,000 คน ทั้งให้ที่อยู่ที่กิน สร้างรายได้ แจกทุนการศึกษาเด็กปีละ 2-3 ล้านบาท ชนิดที่ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนควักกระเป๋าทำแบบนี้มาก่อน มูลนิธิสวนแก้วจะไม่เสียทรัพย์โดยเปล่าประโยชน์มากถึง 10 ล้านบาท หากไม่มีกฎหมายมาตรานี้

การครอบครองปรปักษ์จึงเป็นข้อกฎหมายที่ทำให้นางวันทนาพร้อมกับทนายอีกคนหนึ่ง สามารถใช้กล่าวอ้างต่อศาลจังหวัดเพื่อขอคำสั่งออกโฉนดที่ดิน แล้วจึงนำมาโฉนดที่ดินมาขายให้แก่มูลนิธิสวนแก้ว โดยในภายหลังเมื่อเป็นคดีความขึ้น นางวันทนาก็สามารถจะให้การเป็นอีกอย่างหนึ่ง จนตนเองพ้นไปจากการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น ทำให้การซื้อขายที่ดินกับมูลนิธิสวนแก้วกลายเป็นโมฆะได้โดยอย่างง่ายดาย

ดังนั้นจะเรียกว่าเป็นกฎหมายที่เป็นธรรมได้อย่างไร

เท่าที่ผ่านมา ใช่มีเพียงมูลนิธิสวนแก้วเท่านั้นที่ประสบปัญหาในลักษณะนี้ แต่การพิสูจน์ถึงการครอบครองที่ดินโดยอาศัยสามบรรทัดของกฎหมายที่กลายเป็นลักษณะที่คลุมเครือในปัจจุบัน ได้สร้างปัญหาเรื่องสิทธิในการครอบครองที่ดินและการซื้อขายที่ดิินอย่างมากมาย ยังไม่ต้องพิจารณาถึงว่าการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเวลายาวนานเท่าใด สมควรหรือไม่ที่กฎหมายจะเขียนระบุให้ทรัพย์ของผู้อื่นสามารถตกเป็นของผู้ครอบครองได้

เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป การแสวงหาผลประโยชน์จากผืนดินก็เปลี่ยนแปลงไปในหลายลักษณะ ในเมื่อกฎหมายไม่เข้ากันกับลักษณะทางสังคมอีกต่อไป ก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง เพื่อยังประโยชน์ต่อประชาชน และสร้างสังคมที่ไร้ข้อพิพาท

ที่จริงมีอีกหลายวิธีที่สามารถผลักดัน โน้มน้าว เชิญชวน หรือจูงใจให้ประชาชนสร้างประโยชน์จากที่ดิน เช่นการให้สิทธิพิเศษทางภาษีหลายประการสำหรับการลงทุนบนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ อ.แม่สอด จ.ตาก

สำหรับอีกแนวคิดหนึ่งคือการจัดเก็บภาษีมูลค่าที่ดิน ตามแนวคิดแบบภูมิเศรษฐศาสตร์ หรือที่เรียกว่าภาษีมูลค่าทำเล เป็นต้น

เฮนรี จอร์จ เจ้าของแนวคิดภาษีเดี่ยว ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเก็บภาษีมูลค่าที่ดินเพียงอย่างเดียว ได้กล่าวไว้ว่า

“ถ้าเราเก็บภาษีบ้าน จะมีบ้านน้อยลงและคุณภาพต่ำลง ถ้าเราเก็บภาษีเครื่องจักรกล จะมีเครื่องจักรกลน้อยลง ถ้าเราเก็บภาษีการค้า จะมีการค้าน้อยลง ถ้าเราเก็บภาษีทุน จะมีทุนน้อยลง ถ้าเราเก็บภาษีการออม จะมีการออมน้อยลง ดังนั้นภาษีทั้งปวงที่เราจะยกเลิก ก็คือภาษีซึ่งกดขี่ความอุตสาหะ และลดทรัพย์สิน แต่ถ้าเราเก็บภาษีมูลค่าที่ดิน ที่ดินจะไม่ลดน้อยลง”

ภาษีมูลค่าที่ดินมักอ้างอิงกับความหนาแน่นของจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่ ในชนบทรกร้างห่างไกลมีคนอยู่น้อย ที่ดินมีประโยชน์แค่เพียงการสร้างผลผลิตเกษตรกรรม ภาษีที่จัดเก็บก็จะน้อยลงตามสัดส่วนประชากร แต่สำหรับพื้นที่ในเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาก พื้นที่นั้นมีประโยชน์ทางการค้า สามารถประกอบธุรกิจและบริการ พื้นที่นั้นจะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราสูงกว่าพื้นที่ประเภทแรก และแต่ละพื้นที่มีอัตราภาษีไม่เท่ากัน โดยหากไม่มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเลย อัตราภาษีก็จะทวีคูณขึ้น เพื่อป้องกันการกักที่ดินเพื่อการเก็งกำไรในภายหลัง

โดยทั้งนี้ เมื่อริเริ่มใช้ภาษีมูลค่าที่ดินแล้ว ไม่จำเป็นต้องยกเลิกภาษีประเภทอื่น เพราะมีบางรัฐในประเทศอเมริกาที่ใช้การจัดเก็บภาษีประเภทนี้ โดยไม่คำนึงถึงแนวคิดการจัดเก็บภาษีเดี่ยว นั่นคือเพิ่มอัตราภาษีที่ดินแล้ว ก็ยังคงจัด
เก็บภาษีประเภทอื่นต่อไป

การซื้อขายที่ดินเพื่อการเก็งกำไรทำให้เกิดมูลค่าที่เกิน
จริง ซึ่งส่งผลต่อราคาที่ดินที่โดยมากมักซื้อไว้โดยไม่ทำประโยชน์ แต่เป็นการซื้อไว้เพื่อรอการมาถึงของรถไฟฟ้า ถนนหลวง อบต. หรือความเจริญทางด้านวัตถุอื่นๆ

ในกรณีของมูลนิธิสวนแก้วกับลูกหลานนางทองอยู่ ที่ได้มีการเจรากันแล้วมากครั้ง ฝ่ายเจ้าของที่ดินเดิมได้เสนอราคาขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับทางมูลนิธิ โดยตั้งราคาตั้งแต่ 15 ล้านบาท, 45 ล้านบาท, จนกระทั่งถึง 80 ล้านบาทตามลำดับ ดังคำกล่าวของพระพยอม กัลยฺาโณ ที่ให้ข้อมูลเรื่องนี้ทางโทรทัศน์ ทั้งที่ราคาประเมินโดย ดร. โสภณ พรโชคชัย ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ซึ่งได้ทำการประเมินในปี 2560 ว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีมูลค่าจริงเพียง 33 ล้านบาทเท่านั้น

ในเรื่องการยื่นคำร้องต่อศาลครั้งแรก เพื่ออ้างสิทธิการครอบครองที่ดินของนางวันทนา ผลที่ออกมาเป็นไปตามความคาดหวังของผู้ร้อง แน่นอนว่าคำให้การของนางวันทนาในปี 2550 ย่อมค้านกับการยื่นหลักฐานเพื่อขอให้ศาลจังหวัดออกคำสั่งให้กรมที่ดินออกโฉนดให้แก่ตน ซึ่งถือเป็นการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ที่เป็นผู้เช่าที่ดิน ไม่ได้เข้าข่ายเป็นการครอบครองปรปักษ์ตามที่ศาลจังหวัดออกคำสั่งตามหลักฐานคำร้องที่ได้รับจากผู้ขอคำสั่งศาล
เรื่องนี้จึงไม่เข้าข่ายเป็นความผิดในการกระทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตุลาการ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ถือว่าเป็นความผิดพลาดในกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นจึงสามารถชดเชยด้วยมาตรการเยียวยาต่างๆ ตามที่ผู้เกี่ยวข้องเห็นสมควร

ทั้งนี้เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *